รัสเซียขู่ไม่ส่งน้ำมัน-ก๊าซ ให้ประเทศเอี่ยวมาตรการเพดานราคา

ก๊าซ พลังงาน
REUTERS/Lee Smith/File Photo

รัสเซียยืนยันจะไม่จัดหาน้ำมันและก๊าซให้กับประเทศที่รองรับมาตรการกำหนดเพดานราคาพลังงานที่ประเทศกลุ่ม G7 เสนอ

วันที่ 24 พฤศจิกายน  2565 รอยเตอร์ รายงานว่า ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย เปิดเผยว่า รัสเซียจะไม่ส่งน้ำมันและก๊าซให้ประเทศที่สนับสนุนนโยบายกำหนดเพดานราคาพลังงาน แต่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย หลังจากวิเคราะห์ตัวเลขต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว

เรื่องนี้ เกิดขึ้นหลังการประชุมกลุ่ม G7 ที่มองหาเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ระดับ 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าในเวลานี้สมาชิกสหภาพยุโรปจะยังตกลงกันไม่ได้เรื่องเพดานราคา และอยู่ระหว่างการเจรจาที่กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียมก็ตาม

เปสคอฟกล่าวว่า “ณ ตอนนี้เรายืนหยัดตามจุดยืนของประธานาธิบดีปูติน ที่จะไม่จัดหาน้ำมันและก๊าซให้กับประเทศที่จะกำหนดเพดานราคาและเข้าร่วมนโยบายนี้… แต่เราต้องวิเคราะห์ทุกอย่างก่อนที่จะกำหนดตำแหน่งของเรา”

อีกด้านหนึ่ง รอยเตอร์ รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรป หรืออียูในสัปดาห์นี้ที่กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม ยังมีการถกเถียงที่ไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดราคาน้ำมันจากรัสเซีย ตามโครงการที่กลุ่มประเทศ G7 เสนอ โดยการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงเกินไปสำหรับบางประเทศและต่ำเกินไปกับอีกบางประเทศ

มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียเกิดขึ้นในการประชุม G7 ซึ่งมีทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่ต้องการกำหนดเพดานราคาน้ำมันส่งผ่านทางทะเลของรัสเซียภายในวันที่ 5 ธ.ค.นี้

โดยมาตรการจำกัดเพดานรับซื้อราคาน้ำมันรัสเซีย เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตร เพื่อทำโทษรัฐบาลรัสเซียให้มีรายได้จากการส่งน้ำมันลดลง โดยหวังผลให้รัสเซียมีทรัพยากรหรือทุนรุกรานยูเครนลดลง

แต่ระดับเพดานราคาน้ำมันที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน มีโปแลนด์ ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ที่คิดว่าราคา 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้รัสเซียมีกำไรสูงเกินไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะที่ไซปรัส กรีซ และมอลตา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการเดินเรือขนาดใหญ่ที่จะสูญเสียมากที่สุดหากสินค้าน้ำมันของรัสเซียถูกกีดขวาง คิดว่าเพดานราคาที่เสนอนี้ต่ำเกินไป และต้องการค่าชดเชยสำหรับการสูญเสียธุรกิจหรือต้องใช้เวลามากขึ้นในการปรับเปลี่ยน

นักการทูตสหภาพยุโรปกล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม G7 อย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้นำ สนับสนุนการกำหนดเพดานราคา แต่กังวลเรื่องความสามารถในการบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียดำเนินการโดยเรือบรรทุกมากกว่าท่อส่งประมาณ 70-85% ดังนั้น แนวคิดของการกำหนดเพดานราคา คือการห้ามบริษัทขนส่ง ประกันภัย และประกันต่อ (reassurance) จากการจัดการสินค้าของน้ำมันดิบรัสเซียทั่วโลก ขายไม่เกินราคาที่ G7 และพันธมิตรกำหนด

อีกทั้งเนื่องจากบริษัทขนส่งและประกันภัยที่สำคัญของโลกตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศ G7 ดังนั้นการกำหนดเพดานราคาจะทำให้รัสเซียขายน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ของอุปทานทั่วโลกได้ยากขึ้น

แม้ต้นทุนการผลิตของรัสเซียจะอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งยังทำให้รัสเซียมีกำไรในการขายน้ำมัน แต่หลายประเทศที่สนับสนุนมาตรการนี้เชื่อว่าจะช่วยป้องกันการขาดแคลนอุปทานในตลาดโลก


ทั้งนี้ น้ำมันดิบ Urals ของรัสเซีย ปัจจุบันซื้อขายอยู่ในระดับราคา 68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล