โจทย์ท้าทาย “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น” นักลงทุนส่วนใหญ่อายุมากกว่า 70 ปี

ตลาดหุ้น ญี่ปุ่น

ปัญหาสังคมสูงอายุของ “ญี่ปุ่น” กำลังส่งสัญญาณดังขึ้นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนแรงงาน ปัญหาบ้านร้าง และปัจจุบันพบว่า ผู้สูงวัยญี่ปุ่น ยังเป็นกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นสูงสุดเมื่อเทียบกับนักลงทุนวัยอื่น ที่กลายเป็นความเสี่ยงต่อบริษัทญี่ปุ่น

รายงานการวิเคราะห์ล่าสุดชี้ว่า ตลาดหุ้น ญี่ปุ่นกำลังเผชิญความท้าทาย เนื่องจากปัจจุบัน “นักลงทุนรายย่อย” กลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นญี่ปุ่น กลายเป็นนักลงทุนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากถึง 41% ของนักลงทุนรายย่อยทั้งหมด ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากสัดส่วน 15% เมื่อปี 1989

จากข้อมูลการสำรวจรายได้ การบริโภค และความมั่งคั่งรายครอบครัวของกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น ร่วมกับข้อมูลสถิติการไหลของเงินทุนของธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้พบว่าช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดในหุ้นญี่ปุ่นตามได้เปลี่ยนจากผู้ที่มีอายุ 50 ปีในปี 1989 เป็นผู้มีอายุ 60 ปีในปี 1999 และเป็นผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปในปี 2019

ปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น จากที่ประชากรที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงขึ้นจาก 10% ในปี 1989 เพิ่มเป็น 26% ในปี 2019 ประกอบกับที่หนุ่มสาวญี่ปุ่น ให้ความสนใจกับการลงทุนหุ้นต่างประเทศมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันโบรกเกอร์ที่ให้บริการจัดการตราสารทุนต่างชาติและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยหลักมาจากผลประกอบการของบริษัทต่างชาติที่ดีกว่าบริษัทญี่ปุ่น เช่นกรณีอดขายของบริษัทชั้นนำญี่ปุ่นในดัชนี “นิกเคอิ 225” (Nikkei 225) เพิ่มขึ้นราว 30% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ 500 แห่ง มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 50% ในช่วงเดียวกัน

นอกจากนี้เกณฑ์การลงทุนขั้นต่ำของ “หุ้นต่างชาติ” ที่ต่ำกว่าหุ้นญี่ปุ่นยังเป็นแรงจูงใจสำคัญของนักลงทุนรุ่นใหม่ อย่างการลงทุนใน “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ “ยูนิโคล่” กำหนดลงทุนขั้นต่ำ 8 ล้านเยน ขณะที่หุ้น “แอปเปิล” ใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 20,000 เยนเท่านั้น ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงและลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ง่ายกว่า

ข้อมูลของ “โมเนกซ์” (Monex) บริษัทโบรกเกอร์ออนไลน์ในญี่ปุ่น ระบุว่า ข้อมูลใน ต.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นช่วงอายุ 30 ปีมีการซื้อขายหุ้นสหรัฐในสัดส่วนถึง 58% ขณะที่การลงทุนในหุ้นสหรัฐของนักลงทุนช่วงอายุ 20 ปี และ 40 ปี ก็มีสัดส่วนสูงกว่า 40% สวนทางกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปที่มีการลงทุนในหุ้นสหรัฐไม่ถึง 10%

ทั้งนี้การลงทุนหุ้นในบริษัทญี่ปุ่นเฟื่องฟูในหมู่คนวัยทำงานนับแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เช่น “นิปปอน เทเลกราฟ แอนด์ เทเลโฟน” ( NTT) บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ของญี่ปุ่นที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในช่วงดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นรายย่อยสนใจเข้าลงทุนมากถึง 700,000 ราย ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี

แต่ 35 ปีผ่านไป ผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอ็นทีที สัดส่วนกว่า 80% กลายเป็นนักลงทุนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป “ทาคุโระ ฮานากิ” หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของเอ็นทีที ระบุว่า “เราต้องคิดอย่างจริงจังว่าจะรักษานักลงทุนรายย่อยในประเทศไว้ได้อย่างไรในช่วง 10-20 ปีนับจากนี้”

ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นพยายามจูงใจนักลงทุนด้วยการจ่ายเงินปันผลที่สูงมาต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลก็มีมาตรการสนับสนุนการลงทุนหุ้นด้วยการยกเว้นภาษี เพื่อจูงใจนักลงทุนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ให้มา ลงทุนหุ้นในประเทศมากขึ้น