จีดีพีญี่ปุ่นปี 2565 โตน้อย 1.1% เศรษฐกิจที่อ่อนแอท้าทายผู้ว่าการ BOJ คนใหม่

เศรษฐกิจญี่ปุ่น 2565
REUTERS/ Kim Kyung-Hoon/ File Photo

เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2565 ขยายตัวได้เล็กน้อย 1.1% และคาดว่าไตรมาสปัจจุบันจะชะลอลงอีก เนื่องจากทั้งกำลังซื้อภายในประเทศและอุปสงค์จากภายนอกอ่อนแอลง สภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแออยู่นี้ท้าทาย คาซุโอะ อูเอดะ (Kazuo Ueda) ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2565 เติบโตขึ้นได้เล็กน้อย 1.1% เป็นการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และเติบโตติดต่อกันเป็นปีที่สอง แต่โตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2564 ที่โต 2.1% 

สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (real GDP-มูลค่าจีดีพีที่ปรับผลของเงินเฟ้อออก) ในปี 2565 ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก อยู่ที่ประมาณ 546 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 140 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.1% จากปี 2564 

อุปสงค์ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการบริโภคฟื้นตัวตามการผ่อนปรนข้อจำกัดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน และการอ่อนค่าของเงินเยน ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และส่งผลให้การส่งออกสุทธิลดลง 

ในแง่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามราคาปัจจุบัน (nominal GDP) เติบโตขึ้น 1.3% ตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตลอดทั้งปี 2565 

ส่วนจีดีพีรายไตรมาสในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ขยายตัว 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และพลิกกลับมาขยายตัว 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า หลังปรับผลกระทบของฤดูกาลออกแล้ว  

การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำกว่าการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจระดับแถวหน้าในเอเชีย อย่างจีนที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (real GDP) ขยายตัว 3% เกาหลีใต้ขยายตัว 2.65% อินโดนีเซีย 5.3% และสิงคโปร์ 3.6% 

เศรษฐกิจญี่ปุ่น 2565
REUTERS/ Issei Kato


สำนักข่าว
Bloomberg รายงานว่า ชุนอิจิ ซูซูกิ (Shunichi Suzuki) รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวด้วยความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐบาล แต่เนื่องจากทั่วโลกมีการคุมเข้มทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศยังคงสามารถฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ 

“เรายังต้องให้ความสนใจกับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ ข้อจำกัดด้านอุปทาน ความผันผวนในตลาดการเงิน และการแพร่ระบาดของโควิดในจีน”

Bloomberg วิเคราะห์ว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอเกินคาดซึ่งประกาศออกมาก่อนที่จะเสนอชื่อ ผู้ว่าการธนาคารกลาง (Bank of Japan : BOJ) คนใหม่ต่อรัฐสภา อาจจะสร้างความกังกวลให้กับ คาซุโอะ อูเอดะ (Kazuo Ueda) ที่จะมาเป็นผู้นำด้านนโยบายการเงินคนใหม่ ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบระหว่างการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและความยั่งยืนของกรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ BOJ ภายใต้กระแสการโจมตีค่าเงิน

“ผลลัพธ์ออกมาอ่อนแออย่างน่าประหลาดใจ และนี่แสดงว่าต้องใช้เวลานานกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด … เราไม่สามารถมองโลกในแง่บวกเกี่ยวกับไตรมาสแรกได้ อาจเป็นเพราะข้อมูล เช่น การผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้แสดงให้เห็นแล้วถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก” มาริ อิวาชิตะ (Mari Iwashita) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทหลักทรัพย์ Daiwa Securities Co ในญี่ปุ่นกล่าว 

ปริมาณสินค้าคงคลังที่ลดลงมากเป็นแรงฉุดใหญ่ที่สุดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการลดลงของสต๊อกสินค้าในบางครั้งอาจจะตีความได้ว่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแสดงว่าอุปสงค์ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด ทำให้ผู้ประกอบการขายสินค้าออกได้มาจากจนเหลือสินค้าคงคลังน้อย แต่อิวาชิตะไม่มั่นใจว่าเป็นเช่นนั้น เพราะอีกความหมายหนึ่งที่เป็นไปได้พอกัน คือ บริษัทต่าง ๆ ไม่ต้องการเติมสินค้าคงคลัง เพราะกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี 

ยูกิ มาสุจิมะ (Yuki Masujima) นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg Economics เปิดเผยคาดการณ์ว่า มองไปข้างหน้า Bloomberg Economics เห็นการเติบโตชะลอตัวลงในไตรมาส 1 ปี 2566 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอลงส่งผลให้การส่งออกลดลง ส่วนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป