ปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่น หลังนักท่องเที่ยวพุ่ง เงินเยนแข็งค่า

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth 

ประตูการลงทุนในปี 2566 ของคุณคงเริ่มเปิดกันแล้วนะครับ และหลายคนคงกระโดดสู่ถนนลงทุนรับปีกระต่ายแบบไม่ต้องรอรี ซึ่งผมมองว่าเป็นการออกตัวที่ดีเลยละครับ เพราะจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดคือลงทุนวันนี้เลย แต่สำหรับใครที่ยังลังเล จดๆ จ้องๆ ขอดูสถานการณ์ไปก่อนเพราะเพิ่งเปิดปีมาแค่ไม่กี่วัน เศรษฐกิจโลกก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง อันนี้ก็จริงครับ แต่ความจริงอีกข้อที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ.. เรารอตลาด.. แต่ตลาดอาจไม่รอเรา!!

ในปีนี้ที่เศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมทั้งความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่แนวโน้มการเติบโตจีดีพีและตลาดการลงทุนหลายประเทศในเอเชียกลับสว่างสดใสขึ้นมาอย่างชัดเจน หลังการเปิดประเทศที่ช้ากว่าซีกโลกตะวันตก และหนึ่งในนั้นคือประเทศผู้เป็นมิตรรักของเรามาอย่างยาวนาน คงเป็นใครไปเสียไม่ได้ “ญี่ปุ่น” นั่นเองครับ

Reopening ที่มาพร้อมกับ Rebound

ญี่ปุ่น จัดอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ Laggard เช่นเดียวกับไทย นั่นคือ การฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ช้ากว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากเปิดประเทศช้า โดยญี่ปุ่นเปิดประเทศใกล้เคียงกับไทยในเดือนตุลาคม 2565 และการเปิดประเทศถือเป็นจุดสตาร์ทที่เปิดโอกาสสู่การเติบโตของเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยเฉพาะการเปิดโอกาสรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาอย่างล้นหลาม ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 934,500 คน โดยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเดือนตุลาคมซึ่งอยู่ที่ 498,600 คน ซึ่งมาตรการฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวรายบุคคล ถือเป็นกลเม็ดเด็ดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก และคุณ.. อาจเป็นหนึ่งในนั้นที่กำลังมุ่งหน้าเข้าไปเยี่ยมเยียนดินแดนปลาดิบอยู่  ใช่หรือไม่ครับ

ชาวเอเชียถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน นำโดยนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่มีจำนวนสูงถึง 315,400 คน และถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยในเดือนพฤศจิกายน 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นอยู่ที่ 205,042 คน ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองประเทศ

รองจากนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ คือนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นมากสุดในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอยู่ที่ 99,500 คน ตามด้วยนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ จำนวน 84,300 คน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้

อย่างที่กล่าวไปแล้วนะครับว่า การเปิดประเทศและการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยวของญี่ปุ่นมีแพทเทิร์นคล้ายๆ ประเทศไทยเราที่ช้ากว่าคนอื่นเขา แต่ถึงจะมาช้าแต่มาจริง และมาแบบจริงจัง ซึ่งการท่องเที่ยวกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจหลังโควิด ขณะที่เครื่องยนต์หลักของญี่ปุ่นคือภาคส่งออกนั้น คาดว่าจะชะลอตัวลงตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

การเปิดประเทศของจีนก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนที่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น แม้จีนจะเป็นประเทศสุดท้ายที่ประกาศเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 มกราคม ในปีนี้นี่เอง แต่ก็ถือว่าเร็วกว่าที่นักวิเเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าจีนจะเปิดประเทศในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2566 การประกาศเปิดประเทศของจีนนอกจากจะสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ แล้ว ยังกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นให้คึกคักขึ้นด้วย โดยเฉพาะตลาดหุ้นในเอเชียรวมทั้งญี่ปุ่นด้วย

เมื่อพี่ใหญ่แดนมังกรเปิดประเทศ กองทัพนักท่องเที่ยวชาวจีนก็พร้อมออกเดินทางอีกครั้ง ตลาดท่องเที่ยวทั่วโลกรอรับอานิสงส์นี้  ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและไทยเองก็ถือเป็น Destination หลักของนักท่องเที่ยวจีน จากสถิติในเดือนพฤศจิกายน 2562 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาญี่ปุ่นมีจำนวนสูงถึง 750,951 คน คิดเป็น 31% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น ในขณะที่เดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งจีนยังใช้มาตรการ Zero Covid อยู่ จำนวนชาวจีนที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นมีเพียง 21,900 คนเท่านั้น

ญี่ปุ่นปรับเพิ่มจีดีพี รับปี 2566

ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2566 เป็น 1.5% จากคาดการณ์เดิมที่ประกาศในเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ระดับ 1.1% หลังประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มูลค่า 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศและส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น โดยรัฐบาลคาดว่าการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น 5%

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังคาดว่าการใช้จ่ายภาคครัวเรือนจะโตได้ 2.2% ในปี 2566 หลังบริษัทเอกชนส่วนใหญ่ปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงาน เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นมีสัดส่วนกว่าครึ่งของจีดีพีประเทศ ขณะที่มาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนและธุรกิจก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจลงได้ด้วย

แม้ญี่ปุ่นปรับเพิ่มประมาณการณ์จีดีพีในปี 2566 เพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ปรับลดตัวเลขในปี 2565 ลงจาก 2% มาเป็น 1.7% เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันและอาหารที่แพงขึ้น จากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพฤศิกายน 2565 อยู่ที่ 3.8% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 41 ปี และสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ที่ระดับ 2% แต่ BOJ ก็เชื่อว่าจะสามารถกดตัวเลขเงินเฟ้อให้ลงมาต่ำกว่า 2% ได้ในปี 2566

และข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ขนาดจีดีพีของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 560.2 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 517.9 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2566 เป็นการทำสติถิสูงสุดใหม่ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ที่สำคัญอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิดในปี 2562 และเป็นข้อมูลเผื่อไว้สำหรับใครที่ยังไม่ทราบนะครับว่า ปีงบประมาณญี่ปุ่นต่างกับประเทศอื่นๆ โดยจะเริ่มจากเดือนเมษายนและสิ้นสุดในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

ขยายกรอบ Bond yield

แม้การประชุมนัดแรกของปี 2566 นี้ BOJ ได้สร้างเซอร์ไพรส์เล็กๆ ให้กับตลาด เมื่อตัดสินใจคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) อายุ 10 ปี ไว้ที่ -0.5% ถึง 0.5% และดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% เหมือนเดิม หลังจากที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับตลาดส่งท้าย 2565 ด้วยการขยายกรอบ Bond yield เมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักลงทุนเชื่อว่า BOJ จะเปลี่ยนทิศมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นเหมือนธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก ตามเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในการประชุมล่าสุด BOJ ก็ได้ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2566 นี้ขึ้นมาเป็น 3% จากระดับเดิมที่ 2.9% และปรับประมาณการในปี 2576 เพิ่มขึ้นเป็น 1.8% จาก 1.6%

แต่เมื่อไม่เป็นไปอย่างที่คาด นักลงทุนจึงมุ่งความสนใจไปยังการประชุมของ BOJ ในเดือนมีนาคมนี้มากกว่า เพราะจะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ก่อนที่จะสิ้นสุดวาระในเดือนเมษายน

แต่ผมขอพาทุกท่านย้อนกลับไปสู่ความ ‘พีค’ ของ BOJ ที่เกิดขึ้นส่งท้ายปีเสือโหดที่ผ่านมา ซึ่งปี 2565 ไม่ใช่แค่ Fed ที่เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการขึ้นดอกแบบแรงๆ รัวๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อมาถึงช่วงท้ายปลายปี BOJ ก็เล่นใหญ่ถึงขั้น ‘ช็อก’ ตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบ Bond yield ให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง 0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง 0.25% แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ -0.1% โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศปรับนโยบายทางการเงินในการประชุมนัดสุดท้ายของปี 2565 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้กับนักลงทุนทั่วโลก และดันเงินเยนให้แข็งค่าขึ้นทันทีเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่เงินเยนอ่อนค่ามาตลอดแทบทั้งปี

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับว่านโยายการเงินของ BOJ มีความเฉพาะตัวและแตกต่างจากธนากลางส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยกัน ไม่ว่าจะเป็น Fed หรือธปท.ของเราเอง ที่ใช้ ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ เป็นตัวกำหนดทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศ โดยการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายมายังธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งจะผลต่อผู้ฝากเงินและผู้กู้อย่างเราๆ นี่ละครับ

แต่ BOJ มี 2 เครื่องมือที่ใช้เป็นกลไกควบคุมทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศคือ Yield curve control (YCC) โดยกำหนดผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2559 และอีกหนึ่งเครื่องมือก็คือมาตรการซื้อคืนพันธบัตร หรือการทำ QE เช่นเดียวกับสหรัฐฯ นั่นเอง แต่ญี่ปุ่นเรียกมาตรการนี้ว่า Quantitative And Qualitative Monetary Easing: QQE ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2556 โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นทำการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดพันธบัตรต่อเนื่องทุกเดือน

ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีความเฉพาะตัว โดยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักรายหนึ่งของโลก มีประชากรสูงวัยจำนวนมาก การบริโภคภายในประเทศและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้อัตราการเติบโตจีดีพีอยู่ในระดับต่ำมายาวนาน เทียบกับเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ทำให้ญี่ปุ่นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultra-low rates) มานับสิบๆ ปี และได้มีการปรับใช้มาตรการทางการเงินในหลายๆ รูปแบบมาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผลมากนัก ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ‘ติดลบ’ โดยอยู่ที่ -0.1% สวนทางการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกโดยเฉพาะ Fed ที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาถึง 4.25-4.50% แล้ว

ขณะเดียวกัน การเข้าซื้อพันธบัตรอย่างต่อเนื่องทำให้ BOJ ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยข้อมูลเมื่อกลางปีที่ผ่านมาระบุว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการถือครองพันธบัตรในประเทศสูงทะลุ 50% ไปแล้ว เทียบกับสัดส่วน 10% ในปี 2556 ที่ญี่ปุ่นเริ่มทำ QE ครั้งแรก และปัจจุบัน BOJ มีพันธบัตรในมือถึง 514.9 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นภาระทางการเงินการคลังอย่างมาก ในทางกลับกันการที่ญี่ปุ่นจะขึ้นดอกเบี้ยก็ทำได้ลำบาก เพราะจะทำให้เงินเยนแข็งค่ามากเกินไปและจะกระทบต่อการส่งออกของประเทศ

เงินเยนกลับทิศแข็งค่า

อย่างที่กล่าวไปแล้วนะครับว่า BOJ มี 2 เครื่องมือในการกำหนดทิศทางดอกเบี้ย ซึ่งนอกจากจะช็อกโลกด้วยการขยายเพดาน bond yield แล้ว แบงก์ชาติญี่ปุ่นยังขยายวงเงิน QE เพิ่มขึ้นด้วย จาก 7.3 ล้านล้านเยน เป็น 9 ล้านล้านเยนเมื่อปลยปีที่แล้ว และจากการประชุมรอบแรกในปีนี้ แม้ว่า BOJ จะส่งสัญญาณคงนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป แต่ตลาดยังคาดเดาทิศทางนโยบาย และยิ่งสร้างความสับสนให้ตลาดไปกันใหญ่ เพราะเริ่มเดาทิศกันไม่ถูกแล้วว่า BOJ จะดำเนินนโยบายการเงินไปทางไหนกันแน่

แม้ในฝากฝั่งหนึ่งตลาดจะเห็นว่าการที่ญี่ปุ่นขยายเพดาน bond yield ไปถึง 0.5% นั้น BOJ กำลังเดินหน้าสู่นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นเช่นเดียวกับธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อเปิดช่องไปสู่การ ‘ขึ้นดอกเบี้ย’  ในปี 2566 นี้ แต่บางมุมก็มองว่านโยบายของ BOJ มีความย้อนแย้งอยู่ในตัว เพราะการขยายวงเงิน QE เพิ่มขึ้นนั้นสะท้อนว่าญี่ปุ่นต้องการผ่อนนโยบายการเงินลงอีก แต่ยังมีฝั่งที่ 3 ที่มองต่างมุมออกไปว่า BOJ ไม่ได้ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินอะไรเลย ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปนั่นแหละ เพียงแต่ต้องการความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายมากขึ้น เพื่อให้หายใจหายคอได้คล่องขึ้นก็เท่านั้นเอง เรื่องนี้คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์กันครับ

แต่สิ่งที่ตลาดมีข้อพิสูจน์ให้กับ BOJ อย่างแจ่มชัดกันไปแล้วก็คือ เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นทันทีหลังการประกาศเพิ่มเพดาน Bond yield โดยพุ่งขึ้นจาก 137.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแตะระดับ 132.28 เยน/ดอลลาร์ นับเป็นการทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือนระหว่างการซื้อขายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 และแข็งค่าขึ้นต่อในวันรุ่งขึ้นถึง 130.58 เยน/ดอลลาร์ ทำนิวไฮในรอบ 5 เดือนเพียงชั่วข้ามคืน

นักวิเคราะห์มองว่าเงินเยนจะมีโอกาสแข็งค่าขึ้นถึง 125 เยน/ดอลลาร์ในสิ้นปี 2566 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4% จากช่วยต้นปีซึ่งอยู่ที่ประมาณ 130 เยน/ดอลลาร์ การแข็งค่าของเงินเยนได้รับแรงหนุนหลักจาก

การขยายกรอบ Bond yield ของ BOJ เป็นหัก เพราะจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นแคบลง และเป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำให้เงินเยนกลับทิศมาอยู่ในฝั่งแข็งค่าในปีนี้ หลังจากที่อ่อนลงยวบยาบในปีที่ผ่านมา ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2566 เงินเยนถือเป็นหนึ่งในสกุลหลักที่มีการซื้อขายสูงสุดในโลก

การขึ้นดอกเบี้ยอย่างร้อนแรงแบบ ‘เหยี่ยวพิฆาต’ ของ Fed ตลอดปี 2565 ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ เทียบกับประเทศอื่นๆ ขยายกว้างขึ้น หรืออธิบายง่ายๆ ว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าคนอื่นๆ มาก และส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับเงินสกุลอื่นทั่วโลกรวมทั้งเงินเยน ในปีที่ผ่านมาเราคงได้เห็นเงินเยนอ่อนค่าลงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาแล้ว

เงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างหนักทำให้ BOJ นั่งไม่ติด จนต้องลุกขึ้นมาซื้อเงินเยนเข้าพอร์ตพร้อมทั้งเทขายดอลลาร์ออกมาในเดือนกันยายน 2565 ซึ่งถือเป็นการเข้าแทรกแซงตลาดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 โดยมีรายงานว่าทางการญี่ปุ่นต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 2.8 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนในครั้งนี้ เท่านั้นยังไม่พอ BOJ ยังเดินหน้าแทรกแซงตลาดต่อเนื่องในเดือนตุลาคม เมื่อเงินเยนอ่อนค่าลงถึง 151.94 เยน/ดอลลาร์ ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 32 ปี นับเป็นการอ่อนค่าลงกว่า 32% เมื่อเทียบกับต้นปี 2565 ซึ่งเงินเยนอยู่ที่ประมาณ 155 เยน/ดอลลาร์

และอันนี้ เผื่อไว้เป็นข้อมูลสำหรับคนไทยที่มีแผนเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกันนะครับ ว่าต้องแลกเงินเยนในเรทที่แพงขึ้น โดยตอนนี้ถ้าเราจะแลกเงินญี่ปุ่น 100 เยนต้องใช้เงินบาท 26 บาท เทียบกับปีที่แล้วที่ใช้ 25 บาท ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มองว่าเงินเยน/ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในปีนี้

หุ้นญี่ปุ่นดีจริงหรือ?

หลังจากนี้เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า BOJ จะขยับตัวยังไงต่อไปในอนาคต และแม้ว่าดอกเบี้ยจะเป็นของแสลงสำหรับตลาดหุ้น แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นเหมือนกันนะครับ เช่น ธนาคาร บริษัทประกัน ธุรกิจการเงิน

และหากว่าหลายคนอาจยังไม่มั่นใจว่าลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นจะให้ผลตอบแทนที่ดีได้จริงหรือ เพราะอัตราการเติบโตเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่ในปี 2566 นี้โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียเปล่งประกายขึ้นมาอย่างชัดเจน ตามการฟื้นตัวที่โดดเด่นของเศรษฐกิจภูมิภาค สวนทางกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและมีควมเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

มาดูที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกันบ้างครับ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่มีสินค้าคุณภาพจำนวนมาก และมีความหลากหลายให้เลือกลงทุนทั้งในแง่อุตสาหกรรม ขนาดธุรกิจ และราคา ตั้งแต่ธุรกิจข้ามชาติยักษ์ใหญ่ระดับโลก ธุรกิจขนาดกลาง รวมไปถึงธุรกิจขนาดเล็กที่ผลประกอบการไม่ได้เล็กตาม มีบริษัทจำนวนมากที่โชว์ผลการดำเนินงานได้อย่างโดดเด่นและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างน่าประทับใจ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจึงนับเป็นขุมทรัพย์ที่มีหุ้นดีราคาน่าสนใจให้เลือกมากมาย

แต่หากยังมองภาพไม่ออกว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะเป็นขุมทรัพย์ลงทุนไปได้อย่างไร ก็ต้องขออ้างถึงคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ มาเป็น Reference ให้เห็นกันละครับ อย่างที่รู้กันว่า Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ลงทุนหุ้นญี่ปุ่นใน 5 บริษัทมานานแล้ว โดยแต่ละตัวถืออยู่ราวๆ 5% ของทุนชำระแล้ว แต่ดูเหมือนว่าล่าสุด Berkshire Hathaway ได้เพิ่มสัดส่วนลงทุนขึ้นมามากว่า 6% ต่อบริษัทแล้ว มาถึงตรงนี้หลายคนคงเริ่มเห็นแสงระยิบระยับที่ส่องออกมาจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นกันแล้วนะครับ

จากข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยต่อหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ทาง Berkshire Hathaway มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นทั้ง 5 เพิ่มขึ้นดังนี้ Mitsubishi Corp จาก 5.04% เป็น 6.59%, Mitsui & Co จาก 5.03% เป็น 6.62%, Itochu Corp จาก 5.02% เป็น 6.21%, Marubeni Corp จาก 5.06% เป็น 6.75% และ Sumitomo Corp จาก 5.04% เป็น 6.57%

จริงๆ แล้วหุ้นญี่ปุ่นยังอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติอยู่เสมอ แต่สำหรับนักลงทุนไทยอาจทิ้งร้างห่างหายไปจากตลาดนี้มานาน ปีนี้จึงเป็นโอกาสกลับไปญี่ปุ่นกันอีกรอบ เมื่อประตูบ้านและประตูการลงทุนเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนอีกครั้ง และด้วย Jitta Ranking ญี่ปุ่นเราจะช่วยให้คุณกระโดดรับโอกาสลงทุนในปี 2566 ได้ทันทีแบบไม่ต้องรอ.. มา Jump to Japan รับปีกระต่ายกันครับ