ญี่ปุ่น “ขาดดุลดิจิทัล” สะท้อนภาคเทคโนโลยีอ่อนแอ

ญี่ปุ่น ขาดดุลดิจิทัล

ยอดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจากต่างประเทศของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะขาดดุลในกลุ่มสินค้าและบริการเทคโนโลยี ซึ่งสะท้อนภาพความอ่อนแอในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลของญี่ปุ่น จากเดิมที่เคยโดดเด่นและสร้างรายได้มหาศาลให้กับญี่ปุ่น

นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นได้เปิดเผยข้อมูลบัญชีเดินสะพัด ประจำปี 2022 โดยมียอดเกินดุลที่ 11.4 ล้านล้านเยน ลดลงจากยอดเกินดุลในปี 2021 ถึง 47% และนับเป็นยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นที่ต่ำสุดในรอบ 8 ปี

ปัจจัยสำคัญมาจากการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 15.78 ล้านล้านเยน อันเป็นผลมาจากราคาสินค้าและพลังงานในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงเงินเยนที่อ่อนค่าเกือบ 20% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ส่งผลให้ญี่ปุ่น้องแบกรับต้นทุนในการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น

การขาดดุลการค้าของญี่ปุ่น ชัดเจนในกลุ่มอุตสาหกรรม “เทคโนโลยี” เนื่องจากผู้ประกอบการและคนญี่ปุ่นต้องจ่ายเงินผู้ให้บริการดิจิทัลในต่างประเทศ สูงกว่ารายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นถึง 4.7 ล้านล้านเยนในปี 2022 นับเป็น “การขาดดุลสินค้าและบริการดิจิทัล” ของญี่ปุ่นที่พุ่งสูงขึ้นถึง 90% จากเมื่อ 5 ปีก่อน

ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากใช้บริการคลาวด์ของต่างประเทศในการทรานฟอร์มองค์กร รวมถึงการใช้งานเครื่องมือสำหรับการประชุมออนไลน์ของบริษัทต่างชาติ ส่งผลให้ยอดการขาดดุลในกลุ่มโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และบริการข้อมูลของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านเยนในปี 2022 แม้ว่าจะลดลง
เล็กน้อยจาก 1.7 ล้านล้านเยนในปี 2021 แต่ยังอยู่ในระดับสูง

เช่นกันกับกลุ่มบริการที่ปรึกษาด้านวิชาชีพดิจิทัล เช่น การซื้อโฆษณาดิจิทัลกับบริษัทต่างชาติของญี่ปุ่น ก็มียอดขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านล้านเยนในปี 2021 มาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านเยน

ส่วนการใช้จ่ายในกลุ่มลิขสิทธิ์อย่างการสมัครสมาชิกบริการสตรีมมิ่งวิดีโอและคอนเทนต์ออนไลน์ จากต่างประเทศของชาวญี่ปุ่น ก็ส่งผลให้มียอดขาดดุลในกลุ่มนี้ถึง 1.5 ล้านล้านเยนในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 88,000 ล้านเยน

และญี่ปุ่นยังค่อย ๆ สูญเสียสถานะการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีรายใหญ่ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นสินค้าหลักที่ผลักดันการเกินดุลการค้าของญี่ปุ่น แต่ในปี 2022 ดุลการค้าสินค้ากลุ่มนี้ของญี่ปุ่นลดลงมาอยู่ในเกณฑ์สมดุล โดยมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าใกล้เคียงกันที่ประมาณ 17 ล้านล้านเยน ซึ่งเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะขาดดุลในอนาคต

นอกจากนี้ ดุลการค้าในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพของญี่ปุ่นยังขาดดุลสูงถึง 4.6 ล้านล้านเยน จากการนำเข้ายารักษาโรคและสินค้าทางการแพทย์มากกว่าการส่งออก ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของภาคธุรกิจญี่ปุ่นในสาขานวตกรรมที่กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับชาติอื่น ๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เงินเยนที่อ่อนค่าในปี 2022 ก็มีผลดีต่อบริษัทญี่ปุ่นในการทำรายได้ในต่างประเทศ โดยญี่ปุ่นมีรายได้ขั้นต้น จากการจ้างงานและการลงทุนในต่างประเทศในปี 2022 เกินดุลถึง 35.31 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น4เท่าจากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยังช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นมากขึ้น สร้างความหวังในการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวหลังยุคโควิด-19 แต่ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวเมื่อค่าเงินเปลี่ยนแปลงไป