ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ดุดันไม่เกรงใจใคร เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย 0.50% 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
REUTERS/ Heiko Becker

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ท่ามกลางวิกฤตภาคธนาคารและความปั่นป่วนทั่วตลาดเงินตลาดทุน ประกาศพร้อมเต็มที่ที่จะเสริมสภาพคล่องให้ระบบการเงินในยุโรป 

วันที่ 16 มีนาคม 2566 สภากรรมการ European Central Bank (ECB) หรือธนาคารกลางยุโรป ประชุมท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายของตลาดเงินตลาดทุน และตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% 

ทั้งนี้ ECB เป็นธนาคารกลางของประเทศ/เศรษฐกิจหลักของโลกแห่งแรกที่ประชุมตัดสินใจนโยบาย และประเมินผลกระทบเศรษฐกิจ หลังจากเกิดความปั่นป่วนจากปัญหาของภาคการเงินในสหรัฐและในยุโรป 

ก่อนหน้านี้ ECB ส่งสัญญาณชัดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ยังสูง 8.5% ห่างไกลจากเป้าหมาย 2% และข้อมูลล่าสุด ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเกินคาด 

แต่ความวุ่นวายปั่นป่วนของตลาดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากกรณีธนาคารในสหรัฐอเมริกาล้ม และวิกฤตหุ้นกลุ่มธนาคารดิ่งในยุโรปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อเนื่องจากกรณีในสหรัฐและกรณีของธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ธนาคารกลางยุโรปเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบาก 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% โดยบอกใน press release ว่า อัตราเงินเฟ้อได้รับการคาดการณ์ว่าจะยังสูงกว่าเป้าหมายเป็นเวลานานเกินไป ดังนั้น สภากรรมการธนาคารกลางยุโรปจึงตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญสามรายการขึ้นไป 0.50% คืออัตราดอกเบี้ยของการรีไฟแนนซ์, อัตราดอกเบี้ยของวงเงินสินเชื่อส่วนเพิ่ม และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นไปอยู่ที่ 3.50%, 3.75% และ 3.00% ตามลำดับ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2566

ECB บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ย 0.50% “สอดคล้องกับความมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายระยะกลางที่ 2% ในเวลาที่เหมาะสม”

“สภากรรมการธนาคารกลางยุโรปกำลังติดตามความตึงเครียดในตลาดอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะตอบสนองตามความจำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงินในยูโรโซน”

พร้อมยืนยันว่า “ภาคการธนาคารในยูโรโซนมีความสามารถในการรับมือปัญหา (resilient) มีสถาะทางการเงินและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ ก็ตาม ชุดเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของ ECB มีความพร้อมเต็มที่ที่จะให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องแก่ระบบการเงินในเขตยูโร หากจำเป็น และเพื่อให้การส่งผ่านนโยบายการเงินเป็นไปอย่างราบรื่น”

การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปถูกมองว่าเป็นการใช้นโยบายการเงินที่ตึงและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างยิ่ง 

บ็อบ มิเคเล่ (Bob Michele) ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO) ของ JPMorgan Asset Management ให้สัมภาษณ์ Bloomberg ก่อนจะทราบการตัดสินใจของ ECB โดยเขาเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากความวุ่นวายในภาคการธนาคารที่กระเพื่อมไปทั่วตลาดการเงินและเศรษฐกิจ และแม้แต่มุมมองก่อนที่จะเกิดวิกฤตในภาคธนาคารเขาก็มองว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะเกิดขึ้น 

ณ สถานการณ์ล่าสุด เขาคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวในการประชุมสัปดาห์หน้า สำหรับ ECB เขาคิดว่ากรณีปัญหาของเครดิตสวิสจะถูกนำไปพิจารณา และคิดว่า ECB ควรหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวเช่นกัน     


“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB ในสัปดาห์นี้ หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์หน้า จะเป็นการกระทำที่เสียมารยาทที่สุดนับตั้งแต่ ECB ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน 2551”