“ญี่ปุ่น” ขึ้นเงินเดือนครั้งใหญ่ รับมือวิกฤต “เงินเฟ้อ”

ญี่ปุ่น ขึ้นเงินเดือน

ผลกระทบจากเงินเยนที่อ่อนค่าและภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ส่งผลให้เกิดเสียงเรียกร้องทั้งจากภาครัฐและกลุ่มแรงงาน “ญี่ปุ่น” ต่อบรรดาภาคธุรกิจต่าง ๆ ในการปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น และล่าสุดบรรลุข้อตกลงปรับขึ้นค่าจ้างของญี่ปุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี

รอยเตอร์รายงานว่า สมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่นหรือ “เร็งโง” (Rengo) เปิดเผยผลสำเร็จในการเจรจาค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิประจำปี หรือ “ชุนโต” (shunto) โดยภาคธุรกิจญี่ปุ่นยินยอมปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 3.8% ในปีงบประมาณนี้ นับเป็นการปรับเพิ่มค่าแรง มากกว่า 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1994

โดยการสำรวจข้อมูลของสหภาพแรงงานญี่ปุ่น 805 แห่ง ที่เป็นพันธมิตรกับเร็งโง พบว่าอัตราค่าจ้างเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นราว 11,844 เยน/เดือน “โทโมโกะ โยชิโนะ” ประธานของเร็งโง ระบุว่า การตอบสนองของบริษัทต่าง ๆ ครั้งนี้นับว่า “ใจกว้างและมีความหมาย” ต่อข้อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างของสหภาพแรงงาน

บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นต่างขยับตัวในเรื่องนี้ เกียวโดรายงานว่า “นิสสัน มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นเตรียมจะเพิ่มเงินเดือนเฉลี่ย 12,000 เยน และยังจะมอบโบนัสประจำปีให้กับพนักงานอีกในอัตรา 5.5 เดือน

เช่นเดียวกันกับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อย่าง “ฮิตาชิ” ที่จะขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน 7,000 เยน/เดือน ส่วน “ซัปโปโร บริวเวอรีส์” ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของญี่ปุ่นจะขึ้นเงินเดือนราว 9,000 เยน/เดือน และสายการบิน “เจแปนแอร์ไลน์” เพิ่มค่าจ้าง 7,000 เยน/เดือน

การปรับขึ้นค่าจ้างของบรรดาบริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มไปในทางเดียวกับ “โตโยต้า มอเตอร์” ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการเจรจาปรับค่าจ้างในแต่ละปี ซึ่งเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โตโยต้าได้ตกลงที่จะปรับขึ้นเงินเดือนและเพิ่มโบนัสประจำปีตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างของบริษัทสูงสุดในรอบ 20 ปี

ขณะที่คู่แข่งของโตโยต้าอย่าง “ฮอนด้า มอเตอร์” ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5% หรือราว 12,500 เยน/เดือน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างของบริษัทครั้งใหญ่สุดนับแต่ปี 1990 เช่นกัน

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่มีการเติบโตของค่าจ้างต่ำมาก โดยอัตราค่าจ้างของญี่ปุ่นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 และยังต่ำสุดในบรรดากลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยอยู่ที่ราว 32,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี เทียบกับค่าจ้างเฉลี่ย 76,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปีในสหรัฐอเมริกา

ปี 2022 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับเงินเยนที่อ่อนค่า ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ก็ผลักดันต้นทุนการนำเข้า กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นกลับต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ กระทั่งนายกรัฐมนตรี “ฟูมิโอะ คิชิดะ” ต้องออกมาเรียกร้องให้ภาคธุรกิจปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับค่าครองชีพของชาวญี่ปุ่น

“ไซสุเกะ ซาไก” ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษา มิซูโฮ รีเสิร์ช แอนด์ เทคโนโลยีส์ ระบุว่า เรากำลังเห็นการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งประวัติศาสตร์ แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยราคาผู้บริโภคที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นจะปรับขึ้นค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงาน แต่การเจรจาค่าจ้างในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจะยังคงต้องเจรจากันต่อในเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ ซึ่งกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนการจ้างงานเกือบ 70% ของการจ้างแรงงานภาคเอกชนทั้งหมด ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถปรับขึ้นค่าจ้างได้มากเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยปัจจัยด้านต้นทุนที่ต้องแบกรับ