เศรษฐกิจอินโดนีเซียโตแบบเพื่อนอิจฉา 5.03% สูงกว่าใครในอาเซียน 

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ท่าเรือขนส่งสินค้าในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย/ AFP/ ADEK BERRY

เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 1 ปี 2566 เติบโต 5.03% แบบเพื่อนร่วมอาเซียนต้องอิจฉา แม้ว่าราคาสินค้าส่งออกลดลง แต่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวพุ่ง การบริโภคภายในประเทศก็ขยายตัวดี 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Central Statistics Agency) ของอินโดนีเซียแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 2566 ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโต 5.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้านี้ (ตุลาคมถึงธันวาคม 2565) ที่โต 5.01% แม้ว่าได้รับแรงกดดันจากการที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงก็ตาม 

อัตราการเติบโต 5.03% ของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสแรกนี้ใกล้เคียงกับคาดการณ์ของธนาคารกลางอินโดนีเซียที่คาดไว้ว่าจะโตมากกว่า 5% เล็กน้อย แต่สูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ 23 คนที่รอยเตอร์ (Reuters) สำรวจความคิดเห็น ซึ่งคาดการณ์ค่ากลางของการเติบโตของจีดีพีอินโดนีเซียไว้ที่ 4.95% 

เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ การเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุด อย่างเวียดนามโต 3.3% สิงคโปร์โต 0.1% มาเลเซียคาดการณ์ว่าจะโตราว 4% และไทย มีการคาดการณ์โดยวิจัยกรุงศรีเมื่อเดือนเมษายนว่าจะโตอยู่ราว ๆ 2.2%  

อินโดนีเซีย เป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของโลก เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และนิเกิล ได้รับรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ส่วนในปีนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงแล้วในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังคงเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์   

เศรษฐกิจของอินโดนีเซียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้วตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 โดยได้แรงหนุนสำคัญจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพงมากในปีที่แล้ว และจีดีพีตลอดทั้งปี 2565 โต 5.31% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี 

เมื่อตอนที่อินโดนีเซียแถลงภาวะเศรษฐกิจปี 2565 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียเองก็กังวลว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง และนักวิเคราะห์ก็ได้เตือนถึงปัจจัยนี้เช่นกัน แต่ตัวเลขไตรมาสแรกปีนี้ก็ออกมาดีกว่าที่กังวล 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า เอดี มาห์หมัด (Edi Mahmud) รองผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยรายละเอียดในการแถลงข่าวว่า ราคาขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงถูกชดเชยด้วยปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 26.89% ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 

“ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ (สินค้าส่งออก) อันดับต้น ๆ ของอินโดนีเซียในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งนั่นสนับสนุน performance ของการส่งออก” 

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
นักท่องเที่ยวจีนในอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมกราคม 2566/ AFP/ SONNY TUMBELAKA

ส่วนสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจภายในประเทศ การบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 4.54% โดยได้แรงหนุนหลักจากภาคการขนส่งและโทรคมนาคม ขณะที่การบริโภคภาครัฐกลับมาขยายตัว 3.99% หลังจากหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกันในปี 2565

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีจำนวน 2.2 ล้านคนในไตรมาสแรกที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 509% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้จีดีพีเติบโตได้ดี 

เมื่อเดือนที่แล้ว เพอร์รี วาร์จีโย (Perry Warjiyo) ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia) กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในเดือนเมษายนถึงมิถุนายนนี้น่าจะดีขึ้น เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วการบริโภคภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งอยู่ในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน  

วาร์จีโยบอกเพิ่มเติมว่า คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโต 5.1% ซึ่งใกล้กับขอบบนของช่วงประมาณของธนาคารกลางที่ 4.5% ถึง 5.3% ซึ่งจะสูงกว่าประมาณการล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียปีนี้จะเติบโต 5% โดยปัจจัยหนุนคือการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และการผ่อนคลายของภาวะเงินเฟ้อ