เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟื้นสู่ระดับก่อนโควิด จีดีพี 2565 โต 5.31% สูงสุดในรอบ 9 ปี

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ท่าเรือขนส่งสินค้าในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย / AFP/ ADEK BERRY

เศรษฐกิจอินโดนีเซียฟื้นกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว จีดีพีปี 2565 โต 5.31% เป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 9 ปี แต่สำหรับปี 2566 คาดว่าจะโตน้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอจะส่งผลให้การส่งออกของอินโดฯไม่ดีเหมือนปีที่ผ่านมา

วันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว 

อินโดนีเซียแถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2565 และภาพรวมของทั้งปีว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 4 โต 4.92% ส่งผลให้จีดีพีรวมทั้งปี 2565 โต 5.31% ฟื้นสู่เส้นทางการเติบโตในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่เติบโตเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี และเป็นการเติบโตในอัตราเร่งที่เร็วที่สุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่เติบโต 5.56% 

มาร์โก ยูโวโน (Margo Yuwono) ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานสถิติแห่งชาติ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวในการแถลงข่าวว่า อัตราการเติบโตอันน่าประทับใจนี้ได้รับแรงหนุนส่วนใหญ่จากการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากการฟื้นตัวของการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว และได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการส่งออก เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกที่สำคัญของอินโดนีเซีย เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม เหล็ก และเหล็กกล้าสูงขึ้น 

สำหรับปี 2566 อินโดนีเซียคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ระหว่าง 4.5%-5.3% แต่เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ตัวเลขที่อินโดนีเซียทำได้จริงน่าจะอยู่ราว ๆ กึ่งกลางของคาดการณ์ หรือต่ำกว่านั้น ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจของ Bloomberg คาดตัวเลขชัด ๆ ว่าจะอยู่ที่ 4.9% 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงบางประเทศเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นครั้งแรกในรอบปีเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะยังคงอ่อนแอ และจะกระทบต่อการส่งออกของเหล่าประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ท่าเรือขนส่งสินค้าในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย/ REUTERS/ Ajeng Dinar Ulfiana

อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งการส่งออกที่เติบโตในอัตราชะลอลงในเดือนสุดท้ายของปี 2565 บ่งชี้ว่าการส่งออกของอินโดนีเซียในปี 2566 ไม่น่าจะเดินตามรอยปี 2565 ซึ่งการส่งออกทั้งปีสูงเป็นประวัติการณ์ 

ยูโวโนกล่าวว่า สินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียมีราคาสูงทั่วโลกช่วยหนุนการค้าในปีที่แล้ว แต่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตในอนาคต 

สอดคล้องกับมุมมองของกระทรวงการคลังอินโดนีเซียที่คาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอลง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่ออินโดนีเซียในปีนี้ 

สัญญาณเตือนปรากฏชัดเจนในตัวเลขไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ที่จีดีพีเติบโต 4.92% เป็นอัตราที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่การส่งออกขยายตัว 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งเติบโตในอัตราชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ที่โต 19.4% ส่วนด้านการบริโภคลดลง 4.5% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้านั้นที่การบริโภคลดลง 5.4% 

การเติบโตในระดับปานกลางในไตรมาสล่าสุด หมายความว่าธนาคารกลางของอินโดนีเซีย ซึ่งได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วรวม 225 basis points (2.25%) นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในปลายเดือนนี้ 

มีสัญญาณจาก เพอร์รี วาร์จิโย (Perry Warjiyo) ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย เมื่อเดือนที่แล้วว่า ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวน่าจะมีมากกว่าความท้าทายจากอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา 0.25% 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งในปี 2565 สูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ 2%-4% กำลังแสดงสัญญาณของการผ่อนคลายลงแล้ว โดยชะลอลงเป็น 5.28% ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา