รุ่งอรุณรอบใหม่ ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจ
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

วิวัฒนาการทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจที่สุดในเอเชียในเวลานี้หนีไม่พ้นพลวัตที่กำลังเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประเทศที่เคยเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ก่อนที่จะทรุดตัวและเวียนวนอยู่กับภาวะเงินฝืดมาตลอดหลังฟองสบู่แตกดังโพละในทศวรรษ 1980

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี Topix ของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 33 ปี อันเป็นผลพวงจากการที่บรรดากองทุนระดับสถาบันจากต่างประเทศ แห่กันเข้าซื้อสุทธิ 6 สัปดาห์ติดต่อกัน และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

ถึงขนาดที่ นักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา ยืนยันกับนักลงทุนที่เป็นลูกค้าของธนาคารว่า ในระยะยาวเชื่อว่า ดัชนี Topix สามารถทะยานต่อไปได้อีก 33 เปอร์เซ็นต์ ก้าวขึ้นเหนือระดับสูงสุดที่เคยพบเห็นกันมาในช่วงสุกดิบก่อนฟองสบู่แตก

ไม่เพียงแค่ตลาดหลักทรัพย์ฯเท่านั้น นักวิเคราะห์โดยรวมในเวลานี้แสดงทรรศนะไปในทำนองเดียวกันว่า สถานะทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในสภาพที่ “น่าอิจฉา” ของบรรดาผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ชาติ หรือกลุ่มจี 7 ที่เดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดใน “ฮิโรชิมา” บ้านเกิดของนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศฟื้นตัวอย่างมั่นคงมานับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2023 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงไตรมาสแรก ขยายตัวในอัตรา 1.6% เกินความคาดหมายโดยรวมของผู้เชี่ยวชาญที่ลงความเห็นว่า ควรจะอยู่ที่ระดับ 0.7% เท่านั้น ทั้งยังเป็นการยุติ “ภาวะถดถอยทางเทคนิค” หลังจากที่จีดีพีของญี่ปุ่นติดลบต่อเนื่องกันใน 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ -1% และ -0.1% ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ

นั่นทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์โตเกียวพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 14% นับตั้งแต่เริ่มต้นปีนี้เป็นต้นมา เมื่อบรรดานักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจกับการปฏิรูปในเชิงบรรษัทภิบาล และการบริหารจัดการที่ทำให้เห็นพันธะผูกพันในการทำงานให้หนักขึ้นเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับหุ้นของตนเอง

การใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนแล้วสูงถึงกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีของประเทศ ก็ปรับตัวสูงขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนของบริษัทธุรกิจในญี่ปุ่น ก็ขยายตัวถึง 0.9% เกินความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปเช่นเดียวกัน

ค่าจ้างแรงงานในญี่ปุ่นในที่สุดก็เริ่มถีบตัวสูงขึ้น แม้จะไม่มากนักแต่ก็หนักแน่นมั่นคง ซึ่ง “น่าประทับใจ” ไม่น้อยสำหรับประเทศที่ตกอยู่ในภาวะชะลอตัวชะงักงันมานานปี

การฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเวลาเดียวกันก็ส่งผลกระทบในทางบวกต่อการท่องเที่ยวญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติพร้อมกันไปด้วย

หลังจากตกอยู่ภายใต้ภาวะเงินฝืดมานานหลายทศวรรษ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ไม่รวมสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานที่ผันผวนสูงของญี่ปุ่นในเดือนเมษายนก็ยังคงอยู่ที่ 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวอยู่ในระดับเหนือกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 2% ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 13 ทั้งนี้ โดยมาตรฐานของญี่ปุ่นแล้ว อัตราเงินเฟ้อในระดับนี้ถือว่าสูง แต่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างมั่นคง

ปัญหาเพียงอย่างเดียวในบรรดาตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเวลานี้ก็คือ ตัวเลขการส่งออก การส่งออกสินค้าและบริการของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกลดลง 4.2% ถือเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกหลังจากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 6 ไตรมาสติดต่อกัน สาเหตุหลักมาจากสภาพการทรุดตัวของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในเวลานี้

สเตฟาน แองกริค นักเศรษฐศาสตร์ของมูดีส์ อนาลิติกส์ ระบุว่า ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น มักถูกมองข้ามอยู่บ่อยครั้ง แต่ในเวลาเดียวกันเศรษฐกิจญี่ปุนโดยรวมวางอยู่บนรากฐานของเสถียรภาพ นิ่งไม่วูบวาบ

ซึ่งสำหรับโลกในยามนี้ที่แวดล้อมด้วยความปั่นป่วนผันผวน เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เป็นการผสมผสานระหว่างเสถียรภาพกับการขยายตัวในระดับต่ำนั้น ไม่ใช่ปัญหา แต่กลับเป็นคุณสมบัติที่ดีด้วยซ้ำไป

ที่เป็นปัญหาที่แท้จริง และยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจน หนักแน่นก็คือ รุ่งอรุณครั้งใหม่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหนนี้จะสามารถยืนหยัดได้มั่นคงยาวนานหรือไม่

แน่นอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่วนหนึ่งเป็นผลพลอยได้จากสภาพปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ที่บีบบังคับให้บริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต้องจัดระเบียบห่วงโซ่ซัพพลายเสียใหม่ ในขณะที่ความบาดหมางระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนนับวันยิ่งทวีความแหลมคมมากขึ้นตามลำดับ

แต่จีนยังคงเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ในเวลาเดียวกัน ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับปัญหาประชากรชราภาพและหดตัวลงอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าที่ทุกคนคาดการณ์กัน

และในขณะที่บริษัทธุรกิจของญี่ปุ่นต้องการการขยายตัวสู่โลกกว้างเพื่อการเติบโต แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กลับคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้าไม่นาน

รุ่งอรุณของเศรษฐกิจญี่ปุ่น จึงยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปว่าจะยั่งยืนยาวนานเพียงใด