ปมเพดานหนี้สหรัฐ ยังมีอุปสรรคให้ก้าวข้าม

พดานหนี้ สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

คืนวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวกับตัวแทนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา สามารถทำความตกลงกันได้ “ในหลักการ” ว่าด้วยการขยายเพดานหนี้ เพื่อให้รัฐบาลอเมริกันมีสภาพคล่องสำหรับใช้ในการบริหารประเทศต่อไปได้

ข่าวดังกล่าวย่อมส่งผลในทางบวกต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกไม่มากก็น้อย ทั้ง ๆ ที่ปัญหาใหญ่เรื่องนี้ของสหรัฐอเมริกายังไม่สิ้นสุดลงแบบสะเด็ดน้ำ เพียงแค่ได้เริ่มต้นก้าวไปตามขั้นตอนเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบของทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภา มาให้ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ลงนามประกาศใช้ต่อไป

ตามหลักการที่ตกลงกันไว้นั้น เพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาจะถูกขยายเพิ่มขึ้นอีกราว 4 ล้านล้านดอลลาร์ เปิดทางให้รัฐบาลอเมริกันสามารถก่อหนี้เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายได้ราว ๆ 2 ปี

สิ่งที่ฝ่ายบริหารของไบเดนต้องยินยอมให้ตามความต้องการของรีพับลิกันเป็นการแลกเปลี่ยนก็คือ การจำกัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล โดยที่รายจ่ายทุกอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับงบฯด้านกลาโหมจะต้องถูกจำกัดไว้ในระดับเดิมไปจนถึงปี 2024 ในปี 2025 จึงอนุญาตให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 1%

มองผิวเผินแล้วดูเหมือนข้อตกลงขยายเพดานหนี้ครั้งนี้ ชัยชนะในการต่อรองจะตกเป็นของทำเนียบขาวกับพรรคเดโมแครตของไบเดน เมื่อคำนึงถึงว่า ไบเดนยังคงรักษานโยบายสำคัญ ๆ ที่พยายามผลักดันเอาไว้ได้ อย่างเช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อโครงการพลังงานสะอาด หรือโครงการบรรเทาภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา เป็นต้น แถมยังขยายเพดานหนี้ได้ถึง 2 ปี ไม่จำเป็นต้องมามีเงื่อนไขต้องเจรจาต่อรองในปี 2024 อีกด้วย

แต่ผู้สันทัดกรณีกลับชี้ว่า ความตกลงขยายเพดานหนี้ครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อรีพับลิกันมากกว่าเดโมแครต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของยุทธศาสตร์เพื่อผลในการเลือกตั้งในปีหน้า

รีพับลิกันไม่เพียงกดดันจนสามารถโยกเอางบประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ ออกไปจาก Internal Revenue Service (IRS) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ยังสามารถบีบจนทำเนียบขาวต้องยอมจำนนต่อการแก้ไขข้อกำหนดที่เป็นกฎเกณฑ์สำหรับการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางเสียใหม่ ตามที่รีพับลิกันต้องการอีกด้วย

งบฯ 10,000 ล้านดอลลาร์ เป็นเงินที่รัฐบาลไบเดนจัดสรรไว้เพื่อ “ปฏิรูป” การจัดเก็บภาษี ปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่ม “รายรับ” ให้กับรัฐบาล

ส่วนกรณีหลังนั้น เป็นการตัดคะแนนนิยมจากกลุ่มที่เป็นฐานเสียงของเดโมแครตโดยตรง ซึ่งถ้าผ่านออกมาบังคับใช้ก็หมายความว่า คนอเมริกันรายได้ต่ำที่มีอายุไม่เกิน 54 ปี จำเป็นต้อง “มีงานทำ” อยู่ ถึงจะสามารถรับความช่วยเหลือในรูปของคูปองอาหารจากภาครัฐได้ ต่างจากเดิมที่กำหนดอายุไว้เพียงไม่เกิน 49 ปี

แต่ชัยชนะที่แท้จริงของรีพับลิกันนั้นอยู่ตรงที่การวางกลยุทธ์เอาไว้เพื่อหวังผลให้การขยายเพดานหนี้ครั้งนี้ส่งผลในทางบวกต่อพรรคทั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 และปี 2028

“แอนนา หว่อง” หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ ระบุว่า การจำกัดงบประมาณรายจ่ายนั้น จะไม่ส่งผลเสียในทันที แต่จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางในปี 2024 อันเป็นปีแห่งการเลือกตั้ง

หากจำกัดรายจ่ายของรัฐบาลไว้ 3-5 ปี จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงานจากระดับการสูญเสียแต่เดิมอีก 340,000 ตำแหน่งภายในสิ้นปี 2024 ในขณะที่จีดีพี จะหดหายเพิ่มขึ้นอีก 0.3% เช่นเดียวกัน

ผลกระทบในทางลบดังกล่าวจะเป็นผลลบที่พอกพูนเพิ่มเติมจากปัญหาเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกามีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อย่าลืมว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เศรษฐกิจของสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

หมายความว่า คนอเมริกันจะตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยุ่งยากหนักในปีแห่งการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ “โจ ไบเดน” ที่คะแนนนิยมตกต่ำสุดในเวลานี้ จะยิ่งลำบากมากยิ่งขึ้นในปี 2024 จนอาจถึงกับพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง

ซ้ำรอยเดิมของประธานาธิบดีสมัยเดียว 3 คนล่าสุด ไม่ว่าจะเป็น จิมมี คาร์เตอร์, จอร์จ บุช จูเนียร์ และ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่แพ้ภัยเศรษฐกิจที่ตกต่ำในปีของการเลือกตั้งเหมือนกันทั้งหมด ในขณะเดียวกันเมื่อถึงวาระต้องยกเลิกมาตรการจำกัดงบประมาณ ซึ่งอาจเป็นปี 2025 หรือ 2026 การยกเลิกดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นทันตาเห็น

ดังนั้นใครก็ตามที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 ก็จะเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการยกเลิกการจำกัดการใช้จ่ายภาครัฐนี้ไปเต็ม ๆ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2028 อีกด้วย

ทั้งนี้ความตกลงขยายเพดานหนี้ในครั้งนี้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งรีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ในเวลานี้ (222 เสียงต่อ 213 เสียง) และจำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่ฉิวเฉียดที่ 51-49 เสียง ให้ได้ทันตามกรอบเวลา 5 มิถุนายนที่จะถึงนี้

ผู้สันทัดกรณีระบุว่า ในสภาล่าง รีพับลิกันจำเป็นต้องเทคะแนนเสียงเพื่อให้เสียงสนับสนุนต่อร่างความตกลงนี้มีอย่างน้อย 218 เสียง เพื่อให้ได้เสียงข้างมากให้ความเห็นชอบส่งต่อให้กับวุฒิสภา

ในวุฒิสภา ซึ่งมีกฎให้สามารถอภิปรายถ่วงเวลา หรือ “ฟิลลิบัสเตอร์” อยู่ด้วย เพื่อป้องกันการใช้วิธีการนี้ วุฒิสมาชิกอย่างน้อย 60 คนต้องให้ความเห็นชอบ

คนอเมริกันและเจ้าหนี้ของสหรัฐอเมริกา ลุ้นแค่เงื่อนไขด่านแรกนี้ก็เต็มกลืนกันแล้วอย่างแน่นอน