แรงดูดแผนลงทุนใหม่ “ซัมซุง” ดึงบริษัททั่วโลกมา “เกาหลีใต้”

ซัมซุง

เมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคระดับชาติ โดยมีมาตรการต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการจูงใจทางภาษี โดยมียักษ์ “ซัมซุง” มีบทบาทนำในการลงทุนผลักดันโครงการดังกล่าว ที่เป็นแรงดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเร่งลงทุนในเกาหลีใต้ เพื่อไม่ให้ตกขบวนการไปสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า แผนลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 300 ล้านล้านวอน ของ “ซัมซุง” ผู้ผลิตชิปรายใหญ่กลายเป็นแรงดึงดูดบริษัทเซมิคอนดักเตอร์จากทั่วโลกหันมาสนใจเพิ่มการลงทุนในเกาหลีใต้ เพื่อรองรับการเติบโตของซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ที่เกาหลีใต้เป็นผู้นำ

แผนของซัมซุงเป็นการลงทุนระยะยาวช่วง 20 ปีข้างหน้า เพื่อก่อตั้งและพัฒนาโรงงานในเมืองยงอิน (Yongin) จังหวัดคย็องกี (Gyeonggi) ทางตอนใต้ของกรุงโซล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ซัมซุง รวมถึง “เอสเค ไฮนิกซ์” ผู้ผลิตชิปชั้นนำอีกรายของเกาหลีใต้มีฐานการผลิตหลักอยู่แล้ว ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของบริษัทต่างชาติยิ่งขึ้น

“แอพพลายด์ แมทีเรียลส์” จากสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ขึ้นรูปวงจรเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ในเกาหลีใต้ขณะนี้ ก็มีแผนขยายการลงทุนโดยอยู่ระหว่างการหาพื้นที่จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ ซึ่งมีเมืองยงอินเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ คาดว่าจะสรุปสถานที่ก่อตั้งได้ภายในสิ้นปีนี้

ส่วน “เอเอสเอ็มแอล โฮลดิงส์” ผู้ผลิตอุปกรณ์พิมพ์ลายแผ่นวงจรซิลิคอนรายใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ ก็กำลังก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมในเมืองฮวาซ็อง (Hwaseong) จังหวัดคย็องกี ด้วยเม็ดเงิน 240,000 ล้านวอน โดยตั้งเป้าเริ่มเดินเครื่องภายในปี 2024

ขณะที่บริษัทชิปจากญี่ปุ่นก็เข้ามาในซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้เช่นกัน “โตเกียว อิเล็กตรอน” เตรียมลงทุนในศูนย์พัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ที่เมืองฮวาซ็อง ส่วน “อัลแวค” ก็เตรียมเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์แห่งแรกของบริษัทในเกาหลีใต้ปีหน้า

การขยายการลงทุนของซัพพลายเออร์รายใหญ่จากทั่วโลกในเกาหลีใต้ เป็นความพยายามลดระยะห่างกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซัมซุง และการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะตกขบวน

การลงทุนของซัมซุงที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้บริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนในเกาหลีใต้มากขึ้น เป็นโมเดลที่คล้ายกับ “ทีเอสเอ็มซี” ยักษ์เซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดซัพพลายเออร์จากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในไต้หวัน กระทั่งทีเอสเอ็มซีกลายเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์อันดับ 1 ของโลก

แม้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้จะมีแนวโน้มที่สดใส แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากการถูกดึงเข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะจากกรณีล่าสุดที่ทางการจีนได้สั่งห้ามการใช้งานอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์จากผู้ผลิตอเมริกัน “ไมครอน เทคโนโลยี” ส่งผลให้เกาหลีใต้ตกอยู่ท่ามกลางแรงกดดัน 2 ฝ่าย ทั้งจากสหรัฐที่กดดันชาติพันธมิตรซึ่งรวมถึงเกาหลีใต้ ในการปิดกั้นจีนจากการเข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง


ขณะเดียวกันหากเกาหลีใต้ไม่เข้าไปเติมเต็มความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่ขาดหายไปในจีน ก็อาจต้องพบกับการตอบโต้ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เกาหลีใต้ โดยมีสัดส่วนสูงราว 40% ของการส่งออกชิปทั้งหมดเกาหลีใต้