
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวล้ำมาจนถึงยุค generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิด ที่สามารถทำงานได้เก่งกาจใกล้เคียงมนุษย์ขึ้นทุกวัน ธุรกิจน้อยใหญ่รวมถึงคนทั่วไปล้วนตื่นเต้นอยากลองนำเครื่องมือ AI ใหม่ ๆ มาใช้กับธุรกิจและการทำงานของตนเอง เห็นได้จากเทรนด์การใช้งาน ChatGPT ในทุกวันนี้
โดยเฉพาะผู้นำบริษัทขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งจะตื่นเต้นกับ generative AI หรือ GenAI และรีบที่จะประกาศหรือเปิดรับเครื่องมือ AI ใหม่ ๆ แล้วความเคลื่อนไหวนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจแค่ไหน อย่างไร
พอจะเห็นแนวโน้มจากรายงาน “The economic potential of generative AI” ที่จัดทำโดย “แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี” บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ซึ่งในการทำรายงานนี้ นักวิเคราะห์ของแมคคินซีย์ได้ตรวจสอบข้อมูลจาก 850 อาชีพ และกิจกรรมการทำงานโดยละเอียด 2,100 กิจกรรม ใน 47 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 80% ของแรงงานทั่วโลก
รายงานพบว่า generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงกำเนิดสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับโลกได้มากถึงปีละ 2.6-4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 90-153 ล้านล้านบาทต่อปี) เทียบเคียงได้กับการที่โลกเรามีประเทศระดับสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ประเทศเลยทีเดียว (จีดีพีสหราชอาณาจักร 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564)
ตัวเลขมูลค่าผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ เพิ่มขึ้นมากถึง 15-40% จากประมาณการครั้งก่อนหน้าที่แมคคินซีย์จัดทำรายงานในปี 2560 โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากการที่องค์กรทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่มีการนำ generative AI ไปใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รายงานยังพบว่า ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอื่น ๆ มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการทำงานในปัจจุบันซึ่งกินเวลาของพนักงาน 60-70% ในแต่ละวัน ให้เป็นการทำงานโดยระบบอัตโนมัติได้ ซึ่งหมายความว่า องค์กรต่าง ๆ สามารถลดเวลาการทำงานในปัจจุบันลงได้ 60-70% โดยใช้ AI ช่วยทำงานเหล่านั้นแทนพนักงาน
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะตกงานเพราะ AI เข้ามาแทนที่ แต่พนักงานที่ใช้ AI เป็นตัวช่วยจะสามารถทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งหากคำนวณออกมาเป็นตัวเลข generative AI สามารถเพิ่มการเติบโตของผลิตภาพให้กับเศรษฐกิจโลกได้ 0.2% ถึง 3.3% ต่อปี
รายงานพบว่า งาน 4 ประเภทที่จะมีมูลค่าเพิ่มหรือได้ประโยชน์จากการใช้งาน generative AI มากที่สุด คือ การให้บริการลูกค้า, การตลาดและการขาย, วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และการวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีแนวโน้มจะได้ประโยชน์ราว 75% ของมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้งาน generative AI
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นมาของ generative AI ที่องค์กรต่าง ๆ สามารถเข้าถึงและนำมาใช้งานได้ เป็นตัวผลักดันประมาณการการใช้ระบบอัตโนมัติในการทำงานให้เพิ่มเร็วขึ้นด้วย โดยแมคคินซีย์คาดว่าครึ่งหนึ่งของกิจกรรมการทำงานในปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติแทนในระหว่างปี 2573-2603 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ประมาณ 10 ปี
โดยรวมแล้ว แมคคินซีย์มองว่า generative AI เป็น “ตัวเร่งปฏิกิริยาด้านเทคโนโลยี” ซึ่งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ก้าวไปสู่เส้นทางการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ และยังเพิ่มศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานไปพร้อมกันด้วย