
แอนโทนี่ บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเยือนจีน 18-19 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลกว่า การเยือนจีนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐจะมีบทบาทในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ หรือลดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศได้แค่ไหน
แอนโทนี่ บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการเยือนประเทศจีนในวันที่ 18-19 มิถุนายน 2566 นี้ โดยเป็นกำหนดการที่เลื่อนมาจากกำหนดการเดิมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยว่าพบบอลลูนสอดแนมของจีนเหนือน่านฟ้าสหรัฐ เป็นเหตุให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศทวีขึ้น
ก่อนจะถึงวันที่บลิงเคนจะออกเดินทาง ฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ต่อสายพูดคุยกับบลิงเคนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน โดยแสดงความคาดหวังว่าจีนและสหรัฐจะพบกันคนละครึ่งทาง เพื่อแก้ไขความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน รวมถึงส่งเสริมด้านการติดต่อสื่อสารและความร่วมมือระหว่างกัน และบอกเน้นย้ำเรื่องที่จีนเคยพูดมาหลายครั้งว่า สหรัฐควรเคารพข้อกังวลหลักของจีน เช่น ประเด็นไต้หวัน
การทูตเพื่อปูทางสู่การเจรจาอื่น ๆ
ในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน บลิงเคนจะพบกับฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหวัง อี้ (Wang Yi) นักการทูตระดับสูงสุดของจีน และเป็นไปได้ที่เขาจะได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
มีการคาดการณ์ว่า การเยือนของบลิงเคนจะเป็นการปูทางไปสู่การประชุมทวิภาคีเพิ่มเติมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รวมถึงปูทางสู่การเยือนจีนของเจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจีน่า ไรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีกระทรวงการพาณิชย์ของสหรัฐ
ที่สำคัญคือ หากไม่เกิดความผิดพลาด การเยือนจีนของบลิงเคนจะปูทางสู่การพบและประชุมร่วมกันระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐกับจีน ในการประชุมสุดยอดผู้นำแบบพหุพาคีในปลายปีนี้ ดังที่มีข่าวตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่าสหรัฐจะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาเชิญสี จิ้นผิง เข้าร่วมการประชุมเอเปก (APEC) ที่สหรัฐเป็นเจ้าภาพในปลายปี 2566 นี้ และโจ ไบเดน (Joe Biden) ก็กล่าวเน้นย้ำความเป็นไปได้เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า เขาหวังว่าจะได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในอีกหลายเดือนข้างหน้า

โลกจับตา แต่สหรัฐตั้งความหวังไม่สูง
บลิงเคนกล่าวก่อนออกเดินทางว่า การเดินทางเยือนปักกิ่งครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลสหรัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่ปะทุเป็นความขัดแย้งแบบเปิดเผย
“การแข่งขันที่รุนแรงต้องการการทูตอันยั่งยืน เพื่อให้แน่ใจว่าการแข่งขันจะไม่เปลี่ยนไปสู่การเผชิญหน้าหรือความขัดแย้ง” บลิงเคนกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน
บลิงเคนกล่าวว่า การพบกันของเขากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนในกรุงปักกิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปฏิบัติตามสัญญาที่จะปรับปรุงการสื่อสารระหว่างกัน หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในการประชุมผู้นำ G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
บลิงเคนกล่าวว่าเขาต้องการสร้างการสื่อสารที่เปิดกว้างและมีอำนาจ เพื่อหลีกเลี่ยงการสื่อสารและการตีความที่ผิดพลาด, ต้องการการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับข้อกังวลของสหรัฐ และมองหาพื้นที่สำหรับการร่วมมือระหว่างสหรัฐกับจีนในประเด็นระดับโลก รวมถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นี่เป็นการเดินทางเยือนจีนครั้งแรกของบลิงเคนในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ และเขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดของสหรัฐที่เยือนจีนในรอบ 5 ปี
แม้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นข่าวโด่งดัง แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐระบุว่า พวกเขาไม่คาดหวังว่าว่าจะมีความก้าวหน้าในความสัมพันธ์จากการเดินทางเยือนครั้งนี้มากเท่าไรนัก รวมถึงบลิงเคนเอง เมื่อถูกถามว่าเขามองว่าการเยือนจีนของตนเองจะสามารถกระตุ้นปฏิสิมพันธ์ระหว่างสองประเทศมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงระหว่างกองทัพของสองประเทศด้วย บลิงเคนตอบว่า “นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญ แต่ในแง่หนึ่งก็ยังไม่เพียงพอ ยังมีงานต้องทำอีกมาก”

มุมมองบุคคลที่สาม รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์เตือนอย่าคาดหวังมาก
ส่วนในมุมมองของบุคคลที่สาม วิเวียน บาลาคริชนาน (Vivian Balakrishnan) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ที่อยู่ในงานแถลงข่าวกับบลิงเคนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนกล่าวว่า การเดินทางเยือนจีนของบลิงเคนครั้งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากสหรัฐและจีนจำเป็นต้องทำงานร่วมกันในประเด็นระดับโลกหลายประเด็น รวมถึงเรื่องโรคระบาด และการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก
ถึงอย่างนั้นก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ก็ไม่คาดหวังสูงกับผลลัพธ์ของการเดินทางของบลิงเคนเช่นกัน
“คุณได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากเรา แต่ในฐานะนักการฑูต ผมต้องการขอร้องว่า ได้โปรดอย่าแบกภาระมากเกินไปบนไหล่ของโทนี่ผู้น่าสงสาร” เขาบอกกับบลิงเคนต่อหน้านักข่าวและนักการทูต
“การเดินทางเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่เพียงพอ” รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าว และอธิบายว่า จีนกับสหรัฐมีความแตกต่างในพื้นฐานของมุมมองและค่านิยม จำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างความเคารพซึ่งกันและกัน และความไว้วางใจเชิงกลยุทธ์
“ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาและจีนเท่านั้น แต่ที่อื่น ๆ ทั่วโลกจะจับตามอง ดังนั้น เราหวังและเชื่อว่าคุณจะสามารถจัดการกับความแตกต่างได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ สร้างช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง สร้างความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน”
“ผมหวังว่าผู้คนจะไม่คาดหวังมากเกินไป”

สหรัฐ-จีน ในมุมมองบุรุษในตำนาน เฮนรี คิสซิงเจอร์
นอกจากนั้น ยังมีมุมมองของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้วางระเบียบโลกยุคหลังสงครามเย็น ที่แสดงความเห็นในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนด้วย
คิสซิงเจอร์ถูกถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนจะรุกรานไต้หวัน ซึ่งเขาตอบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งทางการทหารระหว่างจีนกับไต้หวัน หากความตึงเครียดยังคงดำเนินต่อไปในแนวทางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“บนวิถีของความสัมพันธ์ปัจจุบัน ผมคิดว่าความขัดแย้งทางทหารบางอย่างน่าจะเป็นไปได้”
“แต่ผมก็คิดว่าวิถีความสัมพันธ์ในปัจจุบัน (ควร) จะต้องเปลี่ยนไปด้วย”
ซึ่งในมุมมองของคิสซิงเจอร์นั้น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน (และสรัฐ) จะดีขึ้นหรือแย่ลง ขึ้นอยู่กับทั้งรัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลจีนว่าจะถอยห่างจากความขัดแย้ง หรือจะเดินเข้าใกล้ความขัดแย้งยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเขามองว่าสถานการณ์ความตึงเครียดตอนนี้ถือว่าอยู่ที่ “จุดสูงสุดของหน้าผา” กล่าวคือ อยู่ในจุดที่อันตรายมาก
คิสซิงเจอร์บอกว่า ที่ผ่านมาสหรัฐยังไม่ได้ทำตามคำแนะนำของเขาต่อกรณีความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นเหตุผลให้เขายังไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์ของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนจะเป็นอย่างไร และเขามองว่า ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นเป็นสงครามที่ไม่มีใครชนะใครได้ หรือจะชนะได้ก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมจ่ายต้นทุนอย่างเกินสัดส่วน