ปม “บอลลูนจีน” สอดแนม ตัวเร่งเปลี่ยน “ซัพพลายเชน”

บอลลูนจีน สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ


ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนตึงเครียดไปอีกขั้น เมื่อมีประเด็นของบอลลูนจีนที่ลอยเข้ามาในน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐเชื่อว่าเป็นบอลลูนสอดแนม ขณะที่จีนปฏิเสธ โดยอ้างว่าเป็นเพียงบอลลูนสำรวจสภาพอากาศที่เป็นของเอกชน และลอยพลัดหลงเข้ามาด้วยเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม สุดท้ายสหรัฐได้ตัดสินใจยิงบอลลูนตก ทำให้จีนไม่พอใจและออกมาประณามว่าทำเกินกว่าเหตุ

ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของสองประเทศร้าวฉานอยู่แล้ว จากการตั้งกำแพงภาษีสินค้าระหว่างกันที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุครัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” การเล่นงานบริษัทเทคโนโลยีของจีน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน โดยที่บริษัทอเมริกันและพันธมิตรอเมริกันพยายามลดความเสี่ยงด้วยการทยอยย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หากไม่นับเรื่องบอลลูนที่เข้ามาใหม่แล้ว ตัวเร่งล่าสุดที่ทำให้ย้ายฐานการผลิตก็คือนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน

แต่เมื่อมีเรื่องบอลลูนเข้ามา ได้กลายเป็นตัวเร่งใหม่ให้เอกชนอเมริกันต้องกระจายความเสี่ยงซัพพลายเชน

สมาพันธ์ค้าปลีกแห่งอเมริกา สมาคมผู้ผลิตรองเท้าและเสื้อผ้า และสภาบริหารจัดการซัพพลายเชนของอเมริการะบุว่า ความตึงเครียดระหว่างจีนและอเมริกาที่กำลังเพิ่มขึ้นจากเรื่องบอลลูน ได้สร้างความวิตกกังวลใหม่ให้กับสมาชิกของพวกตนเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ต้องรับมือปัญหาการตอบโต้ทางการค้าด้วยมาตรการทางภาษี รวมทั้งปัญหานโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน ทำให้บริษัทอเมริกันต้องเสาะหาแหล่งสินค้าและวัตถุดิบให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าซัพพลายเชนมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้

“มาร์ก บาซา” ประธานสภาบริหารจัดการซัพพลายเชนบอกว่า ตั้งแต่มีการตอบโต้ทางภาษีระหว่างกันของสองประเทศ สมาชิกของสภาได้เริ่มแสวงหาซัพพลายเชนที่หลากหลายและเหลือเฟือมาทดแทนจีน เพื่อลดความเสี่ยงจากนโยบายการค้าที่ตึงเครียด ซึ่งข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญในการย้ายการผลิตไปหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ หลายบริษัทก็พยายามย้ายการผลิตกลับมาทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อหวังจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือฉบับทบทวนใหม่ ที่เรียกว่า new NAFTA หรือ UMSCA

“เราเห็นสมาชิกเคลื่อนไหวเร็วขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสที่จะได้ประโยชน์จาก UMSCA และลดความเสี่ยง พวกเขากำลังย้ายมาที่แคนาดาและเม็กซิโก บางส่วนก็ย้ายไปที่อียู เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย บางรายก็ย้ายกลับมาที่สหรัฐ” บาซาระบุ และว่าสำหรับการพิจารณาจะย้ายไปที่ใดนั้น ใช้เกณฑ์สำคัญหลายอย่างมาพิจารณาประกอบ ได้แก่ ต้องมีเทคโนโลยีรองรับ มีแรงงานที่มีความสามารถ มีโครงสร้างพื้นฐาน มีความน่าเชื่อถือ และมีคุณภาพ

ด้าน “สตีฟ ลามาร์” ประธานบริหารสมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าของอเมริกากล่าวว่า การจะย้ายออกจากจีนไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจีนยังคงเป็นคู่ค้าสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ตั้งแต่การเข้าถึงวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ และความชำนาญ แม้ว่าความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างอเมริกาและจีนจะเพิ่มน้ำหนักให้บริษัทอเมริกันต้องพิจารณาหาซัพพลายเชนที่หลากหลาย แต่ตนไม่คิดว่าการย้ายออกจากจีนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ยังเกิดความไม่เต็มใจที่จะย้ายออก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าถึงผู้บริโภค เพราะการจะขายสินค้าให้กับตลาดจีนก็จะต้องมีแหล่งการผลิตอยู่ในจีนระดับหนึ่ง”

ปัญหาเรื่องบอลลูน ถูกนักวิเคราะห์มองว่าจะทำลายความพยายามที่จะซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพราะเกิดในห้วงที่ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเตรียมจะไปเยือนจีน เมื่อมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นทำให้นายบลิงเคนระงับการไปเยือน ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่าประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” มีความหวังมากกับการเยือนครั้งนี้ของนายบลิงเคน และเตรียมจะพบกับนายบลิงเคนด้วยตัวเอง