ใครโดน “ฟาดหาง” หนักสุด เมื่อจีนส่อไม่รอด “เงินฝืด”

จีน เงินเฟ้อ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

“เงินเฟ้อ” ของจีนกำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะบ่งชี้ทิศทางว่ามี “แนวโน้ม” ที่จีนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอ่อนตัวลง

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคแตะ 0% หรือไม่เติบโตเลย อ่อนแอที่สุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ตรงข้ามกับการประเมินของบรรดานักวิเคราะห์ที่เชื่อว่าน่าจะเติบโต 0.2% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตก็ลดลง 5.4% ลดลง 9 เดือนติดต่อกัน และปรับลงลึกที่สุดนับจากปลายปี 2015

ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์ ชี้ว่า จีนอาจเกิด “เงินฝืด” ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากดัชนีราคาทั้งสองประเภทอ่อนตัวลงแทนที่จะสูงขึ้น หากเกิดเงินฝืดชั่วคราวจะส่งผลดีต่อครัวเรือน เพราะทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อมากขึ้น และทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง

อย่างไรก็ตาม หากเงินฝืดกินเวลายืดเยื้อ จะทำให้เศรษฐกิจติดอยู่ในกับดักเติบโตต่ำ ค่าจ้างไม่เติบโต และบริษัทต่าง ๆ จะถูกกดดันให้ลดการจ้างงาน หากตกอยู่ในกับดักนี้ก็จะมีสภาพเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญมาก่อน จนต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการแก้ปัญหา

ความเสี่ยงที่จะเกิดเงินฝืด เกิดขึ้นในช่วงที่จีนกำลังดิ้นรนเพื่อจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยเพิ่งกลับมาเปิดประเทศเมื่อปลายปีที่แล้ว และยังถูกซ้ำเติมด้วยความตึงเครียด
กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้บรรดาบริษัทตะวันตกย้ายการลงทุนออกจากจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนั้น นับตั้งแต่เกิดโควิด-19 ครัวเรือนจีนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น การเก็บออมเงินมากขึ้นเท่าตัว หรือแตะระดับประมาณ 130 ล้านล้านหยวน หลายคนใช้เงินสดส่วนเกินไปชำระค่างวดบ้านและหนี้อื่น ๆ ส่วนอัตราการว่างงานของเยาวชนก็สูงถึง 20.8%

ADVERTISMENT

“ดันแคน ริกลีย์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแพนธีออน แมโครอีโคโนมิกส์ ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ซึมเซาสะท้อนว่าการฟื้นตัวด้านการใช้จ่ายอ่อนแรง โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าต่าง ๆ รวมถึงแสดงให้เห็นว่ามีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่ เห็นได้จากการรายงานยอดขายค้าปลีกที่น่าผิดหวัง ทำลายความหวังที่ว่าความต้องการจะดีดกลับมาหลังจากเปิดประเทศ

ริกลีย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่ารัฐบาลจีนไม่มีท่าทีจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่จะใช้วิธีเจาะจงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากกว่า โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม อัพเกรดเทคโนโลยี มากกว่าจะแจกเงินเพื่อการบริโภคแก่ประชาชนโดยตรง

ADVERTISMENT

การจ่อเข้าสู่ภาวะเงินฝืดของจีน ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่องในส่วนอื่น ๆ ของโลก อย่างเช่นสหราชอาณาจักร ซึ่งเงินเฟ้อขยายตัว 8.7% ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ จีนนั้นไม่ทำเหมือนประเทศตะวันตกอื่น ๆ ในช่วงเกิดโควิด-19 จีนไม่ใช้มาตรการการคลังขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ธนาคารกลางจีนจะลดดอกเบี้ยในช่วงล็อกดาวน์ แต่ก็ไม่ได้พิมพ์เงินก้อนใหญ่ออกมาในระบบ ต่างจากประเทศตะวันตกที่ออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่จนกลายเป็นสาเหตุให้เกิดเงินเฟ้อสูงอยู่ในขณะนี้

รายงานของเดอะเทเลกราฟชี้ว่า การเติบโตที่อ่อนแอลงของเศรษฐกิจจีน จะจำกัดการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ โดยเฉพาะไทยและฮ่องกง ซึ่งพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนสูง

ด้านนักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ระบุว่า แนวโน้มที่จะเกิดเงินฝืดและอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงมาก สนับสนุนมุมมองของบาร์เคลย์ที่ว่า ธนาคารกลางจีนได้เข้าสู่ “วัฏจักรลดดอกเบี้ย” แล้วขณะที่ “หู เยว่เสี่ยว” นักวิเคราะห์ของเซี่ยงไฮ้ ซีเคียวริตีส์ เชื่อว่าธนาคารกลางจีนจะลดดอกเบี้ยกู้ลงอีก รวมทั้งลดอัตราการกันสำรองของธนาคารลงในช่วงครึ่งหลังของปี

บรูซ ผาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโจนส์ แลงก์ ลาซาลล์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลงมากที่สุด เกิดขึ้นในหมวดพลังงาน โลหะ และเคมี เนื่องจากความต้องการทั้งภายในและนอกประเทศอ่อนแอลง การลดลงที่เร่งตัวขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตสะท้อนความอ่อนแอของภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การลดลงของดัชนีดังกล่าวน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว และจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนเชื่อว่า นอกเหนือจากลดดอกเบี้ยต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายนแล้ว รัฐบาลจีนน่าจะเสริมด้วยมาตรการลดภาษี หรือไม่ก็เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ