ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 12-13 ธันวาคมนี้ ซึ่งนี่เป็นการเยือนเวียดนามครั้งแรกในรอบ 6 ปีของประธานาธิบดีจีน และเป็นการเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียวของเขาในปีนี้
เวียดนามนอกจากเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของจีนแล้วก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความใกล้ชิดกับจีนมากที่สุด เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ทั้งมีความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ และมีความใกล้ชิดกันในทางการเมืองเนื่องจากเป็นประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันทั้งคู่ ขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งกันในประเด็นทะเลจีนใต้ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน
โดยทั่วไป การเยือนอย่างเป็นทางการ (state visit) ของผู้นำประเทศนั้นมีวัตุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีจีนก็บอกวัตถุประสงค์ไว้เช่นนั้น แต่การเยือนต่างประเทศที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ของผู้นำจีน ย่อมมีนัยบางอย่างอยู่เบื้องหลังการกระชับความสัมพันธ์
ทริปกระชับมิตร ยกระดับความสัมพันธ์
ในวันที่ 12 ธันวาคม 2023 ระหว่างพบปะกับ เหงียน ฟู้ จ่อง (Nguyễn Phú Trọng) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม สี จิ้นผิงกล่าวว่า จีนจะสร้าง “ประชาคมเชิงยุทธศาสตร์จีน-เวียดนามที่มีอนาคตร่วมกัน” บนพื้นฐานของการกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างทั้งสองประเทศ
ก่อนการเยือนเวียดนาม สี จิ้นผิง กล่าวว่า เขากับผู้นำเวียดนามจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อทิศทางของความสัมพันธ์ของทั้งของสองประเทศ ทั้งประเด็นระหว่างประเทศและประเด็นระดับภูมิภาค
ไม่เพียงแต่เป็นการเยือนเชิงสัญลักษณ์เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนามเท่านั้น แต่ในการเยือนของประธานาธิบดีจีนครั้งนี้จะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างจีนกับเวียดนามหลายสิบฉบับ ซึ่งข้อตกลงที่คาดการณ์ไว้ได้แก่ การลงทุนของจีนในการยกระดับการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างสองประเทศ ซึ่งรวมถึงการให้เงินช่วยเหลือด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนทั้งจำนวนเงินและเงื่อนไข
ก่อนหน้านี้ จีนกับเวียดนามแสดงความสนใจในการส่งเสริมการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างกัน และเวียดนามยินดีที่จะส่งออกสินค้าไปยังจีนมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ฝั่งรัฐบาลจีนต้องการบูรณาการพื้นที่อุตสาหกรรมทางตอนเหนือของเวียดนามเข้ากับเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานทางตอนใต้ของจีน ซึ่งการยกระดับการเชื่อมโยงระบบรางรถไฟของสองประเทศจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายต่าง ๆ เหล่านี้
เป้าหมายที่แท้จริง คือ ดึงเวียดนามออกห่างสหรัฐ ?
การเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีจีนเกิดขึ้นไห้หลัง 3 เดือนจากการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ของสหรัฐเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ในระหว่างการเยือนเวียดนามของโจ ไบเดน รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลสหรัฐได้ยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) ซึ่งเป็นระดับความสัมพันธ์ทางการทูตสูงสุดของเวียดนามที่จีนอยู่ในระดับความสัมพันธ์นี้มาก่อนสหรัฐ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2008
แน่นอนว่าเลี่ยงไม่ได้ที่การเยือนเวียดนามของสี จิ้นผิง จะถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะดึงเวียดนามออกห่างจากสหรัฐ แม้ว่าจีนกับสหรัฐพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กันในปีนี้ และสี จิ้นผิง กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเปกที่สหรัฐว่า จีนไม่แสวงหาการขยายอิทธิพลเหนือประเทศใด ๆ
ความสัมพันธ์ของเวียดนามกับสหรัฐนั้นใกล้ชิดยิ่งกว่าประเทศไหน ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในขณะที่จีนกับสหรัฐกำลังแย่งชิงอิทธิพลเหนือภูมิภาคอาเซียนกันอยู่ ขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้รับผลประโยชน์มากมายในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐเพิ่มระดับขึ้น สถานภาพและสถานการณ์เหล่านี้ย่อมไม่ใช่สถานการณ์ที่จีนจะสบายใจ
ตามการรายงานของบลูมเบิร์ก (Blooomberg) ไล เหลียง ฟุก (Lye Liang Fook) นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัย ISEAS–Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ซึ่งใช้เวลาสองทศวรรษในการค้นคว้านโยบายต่างประเทศของจีนกล่าวว่า จีนต้องการกดดันเวียดนามไม่ให้ไปไกลเกินกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ กดดันไม่ให้เวียดนามใกล้ชิดสหรัฐมากไปกว่านี้
เขาวิเคราะห์อีกว่า วิธีหนึ่งที่ สี จิ้นผิง อาจใช้ในการดึงเวียดนามมาอยู่ฝั่งจีน คือ การกดดันให้เวียดนามสนับสนุนวิสัยทัศน์ด้านนโยบายต่างประเทศของจีนที่เรียกว่า “ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน”
ประเด็นน่าสนใจในความสัมพันธ์ “สามเส้า”
มีประเด็นน่าสนใจหลายแง่มุมเกี่ยวกับการเยือนเวียดนามของสี จิ้นผิง และความสัมพันธ์แบบ “สามเส้า” ของจีน สหรัฐ และเวียดนาม
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เวียดนามรู้สึกอย่างไรกับความ “เนื้อหอม” ของตัวเอง ลำบากใจหรือไม่ที่เป็นเป้าหมายของชาติมหาอำนาจ ?
สำหรับเวียดนามที่กำลังถูกแย่งตัวคงเป็นความรู้สึกแบบ “ไม่อยากจะเลือกใคร อยากเก็บเธอเอาไว้ทั้งสองคน” หรือถ้าพูดให้จริงจังคือ เวียดนามต้องพยายามรักษาสมดุลความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อน เพื่อที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับมหาอำนาจทั้งสอง
เวียดนามได้รับ “ของหวาน” มากมายจากสหรัฐ ซึ่งเวียดนามก็น่าจะเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของสหรัฐดี และเวียดนามก็มีความกังวลใจว่าการใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้นจะสร้างความขุ่นเคืองใจให้จีน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานาน
เมื่อครั้งที่ เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐเยือนเวียดนามเมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลสหรัฐที่จะยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเวียดนาม การเยือนของเธอถูกมองว่า “ไม่สำเร็จราบรื่น” โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความพยายามนี้ของสหรัฐถูกต่อต้านจากฝั่งเวียดนามเล็กน้อย เนื่องจากทางเวียดนามกังวลว่า จีนอาจจะมองว่า เวียดนามเลือกที่จะเป็นศัตรูกับจีน
ล่าสุด ในช่วงที่ประธานาธิบดีจีนเยือนเวียดนาม ไล เหลียง ฟุกมอง นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัย ISEAS–Yusof Ishak Institute มองการบาลานซ์ความสัมพันธ์ของเวียดนามระหว่างจีนและสหรัฐว่า เวียดนามรู้วิธีสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์นี้
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การที่รัฐบาลจีนต้องการบูรณาการพื้นที่อุตสาหกรรมทางตอนเหนือของเวียดนามเข้ากับเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานทางตอนใต้ของจีน ในขณะที่เวียดนามได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จากการที่บริษัทจากตะวันตกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนโดยเลือกเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางใหม่
สถานะของเวียดนามตอนนี้เป็น “ศูนย์กลางการผลิตนอกประเทศจีน” ของหลาย ๆ บริษัทไปแล้ว หนึ่งในนั้นคือยักษ์เทคโนโลยีอย่าง แอปเปิ้ล (Apple) ที่มีทั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและโรงงานประกอบในเวียดนาม และกำลังจะย้ายส่วนงานนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Introduction : NPI – เป็นส่วนงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เข้าสู่การผลิตแบบ mass production) ของผลิตภัณฑ์ไอแพด (iPad) มายังเวียดนามด้วย
ในปี 2023 นี้ บริษัทจีนจำนวนมากที่เป็นซัพพลายเออร์ของแบรนด์จากตะวันตกได้ย้ายการผลิตบางส่วนมาของตนยังเวียดนามในอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพื่อให้โรงงานอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าตะวันตกที่ตั้งโรงงานประกอบในเวียดนาม และเป็นการลดความเสี่ยงจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีน
เมื่อเวียดนามเป็นผู้รับประโยชน์จากการที่ธุรกิจจำนวนมากหนีออกจากจีนแบบนี้ แล้วเวียดนามจะยินดีที่จะบูรณาการหรือผนวกพื้นที่อุตสาหกรรมของตนเองเข้ากับห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งอาจทำให้ชาติตะวันตกขุ่นเคืองใจแล้วหนีจากเวียดนามไปหรือ ?