คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ระบบธนาคารและสถาบันการเงินของจีนเริ่มแสดงอาการ “ทรุด” ออกมาให้เห็นเป็นระยะ ๆ หลังเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ขึ้นกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงทรุดตัวซึมยาวเรื่อยมาจนถึงขณะนี้
ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้น สารพัดปัญหาก็เกิดตามมาเป็นระลอก ผลก็คือเศรษฐกิจโดยรวมของจีนอ่อนแอลงอย่างชัดเจน กระทบต่อเสถียรภาพของบรรดาสถาบันการเงินทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบอย่าง “ธนาคารเงา” ให้ซวนเซหนักขึ้นไปอีก
ผลลัพธ์ที่ชัดเจนก็คือภาวะ “ล้มทั้งยืน” ของยักษ์ใหญ่ในแวดวงธนาคารเงาของจีนอย่าง จงจื่อ ด้วยหนี้สินมหาศาลถึงกว่า 2.3 ล้านล้านบาท
ที่น่ากังวลยิ่งกว่าก็คือ บรรดาธนาคารในระบบน้อยใหญ่ของจีนที่ “สุขภาพ” ไม่ค่อยดีนักภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจระดับวิกฤตในเวลานี้ อย่างน้อยที่สุด ระบบการเงินของจีนก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในระบบการเงินที่สำคัญที่สุดของโลกเช่นเดียวกัน
ในจีนนอกจากจะมีธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งบางรายอาจเรียกได้ว่าเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์แล้ว ยังมีธนาคารขนาดเล็กที่เรียกว่า ธนาคารประจำภูมิภาค (Regional Banks) อยู่มากกว่า 4,000 ธนาคาร กระจายตัวกันออกไปทั่วประเทศทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท บางส่วนมีขนาดเล็กมาก ให้บริการเฉพาะกลุ่มในท้องถิ่น อาทิ เกษตรกร เป็นต้น ถึงกับเรียกกันว่า ธนาคารหมู่บ้าน (Village Banks) ด้วยซ้ำไป
ผู้สันทัดกรณีที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ในระบบธนาคารของจีนระบุว่า ธนาคารขนาดเล็กเหล่านี้นี่แหละที่กำลังมีปัญหาอย่างหนัก หนักถึงขนาดที่บรรดารัฐบาลของมณฑลต่าง ๆ ต้องระดมเงินอัดฉีดเข้าไปเป็นทุนเพิ่มให้ หรือไม่ก็กระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการกันขึ้น
ข้อมูลจาก วินด์ (Wind) ผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินในจีนแสดงให้เห็นว่า ในปี 2023 ที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลของจีน อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบธนาคารภูมิภาคเหล่านี้มากถึง 218,300 ล้านหยวน หรือมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท รวมแล้วมากกว่าเมื่อปี 2022 ถึงกว่า 3 เท่าตัว
รัฐบาลประจำมณฑลใช้วิธีการออกพันธบัตรเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (Special-purpose Bonds) สำหรับการระดมทุนดังกล่าวนี้ พันธบัตรชนิดนี้มีวัตถุประสงค์จำเพาะ จีนกำหนดขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในปี 2020 เพื่อช่วยเหลือธนาคารระหว่างวิกฤตโควิด
แต่คราวนี้ถูกนำออกขายเพื่อการเพิ่มทุนให้กับธนาคารในท้องถิ่นโดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงการใช้เป็นเงินทุนกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการของธนาคารขนาดเล็กเหล่านี้ในพื้นที่ที่ส่อว่าจะเกิดวิกฤตหนี้ขึ้น หลังจากที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อเรื้อรัง
นักสังเกตการณ์เชื่อว่า การเร่งระดมทุนให้กับธนาคารขนาดเล็กในระบบมากมายขนาดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อทางการจีนที่ว่า สภาพเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างเช่นในตอนนี้จะส่งผลกระทบในทางลบต่อสถานะของธนาคารเหล่านี้ให้ทรุดหนักมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีขนาดเล็กแต่ความสำคัญต่อระบบธนาคารของจีนไม่ได้เล็กน้อยเลยทีเดียว
“ยูเลีย ว่าน” นักวิเคราะห์ของ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่า ธนาคารภูมิภาคของจีน มีทั้งที่ให้บริการอยู่ในเขตเมืองและในพื้นที่ชนบท เมื่อรวมกันทั้งหมดในระบบแล้วถือครองทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 25% ของทรัพย์สินทั้งหมดในระบบธนาคารของจีน
ในทรรศนะของนักวิเคราะห์รายนี้เชื่อว่า ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ความเสี่ยงของธนาคารเหล่านี้จะยิ่งทวีสูงขึ้นเพราะผลกระทบที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งภาคการผลิต, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์, การก่อสร้างและสถานะทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่ง
นอกจากธนาคารภูมิภาคแล้ว บรรดาทรัสต์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งหลายก็ครอบคลุมอยู่ในความเสี่ยงนี้ทั้งหมด
การลดอัตราดอกเบี้ย ที่ทางการจีนหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ดีขึ้น ส่งผลกระทบต่อธนาคารกลางและขนาดเล็กเหล่านี้มากกว่าบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ทั้งหลาย เพราะดอกเบี้ยที่ลดลงหมายถึงผลประกอบการที่หดหายไปของธนาคาร ทำให้เงินทุนของธนาคารอ่อนแอลงอย่างชัดเจน
ปกติเมื่อดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ธนาคารมักแก้ปัญหาด้วยการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจทำให้ความต้องการสินเชื่อลดลง แถมยังมีการแข่งขันสูงระหว่างธนาคารด้วยกันเอง ยิ่งทำให้ผลประกอบการของธนาคารระดับภูมิภาคแย่หนักลงไปอีก
รายงานของไฟแนนเชียล ไทมส์ ชี้ว่า รัฐบาลมณฑล เหลียวหนิง กับ เหอหนาน ถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่ออกพันธบัตรพิเศษเป็นจำนวนเงินสูงสุดในปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงสถานการณ์ของธนาคารที่นั่นว่าหนักหนากว่าที่อื่น ๆ
นอกจากนั้นปีที่ผ่านมายังเกิดการควบรวมกิจการของบรรดาธนาคารขนาดเล็กเหล่านี้ขึ้นมากกว่า 20 ครั้ง ทั้งในเสฉวน, ซินเจียง และเหอเป่ย์
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เงินอัดฉีดกว่า 1.1 ล้านล้านบาทนี้ พอจะสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นกับระบบธนาคารฐานรากของจีนได้หรือไม่
ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามกระทบเป็นลูกระนาดต่อไปในระบบธนาคารจีน