ส่อง 3 ประเด็นใหญ่โลก 2024 ความเสี่ยง “ทศวรรษที่สูญหาย” ของจีน

CHINA-US-DIPLOMACY-APEC-SUMMIT
A large screen outside a shopping mall in Beijing shows news coverage of the arrival of Chinese President Xi Jinping at San Francisco International Airport on November 15, 2023 ahead of the Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) leaders' week. (Photo by Pedro PARDO / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

“จีดีพี” สหรัฐ & จีน

ในฐานะยักษ์เศรษฐกิจเบอร์ 1 และ 2 ของโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นไปของทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ไม่ว่าจะดีหรือร้ายย่อมไม่อาจมองข้าม โดยตลอดปี 2023 ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประเมินว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2.6% ส่วนปี 2024 คาดว่าจะชะลอลงเหลือ 1.3% อันเป็นผลมาจากความตั้งใจของเฟดในการติดเบรกเศรษฐกิจเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งดำเนินการอย่างเข้มงวดมาตลอดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยสูงอย่างต่อเนื่อง

ส่วนของจีนนั้น มีแนวโน้มว่าจีดีพีปี 2023 จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายคือ 5% ส่วนปี 2024 ทางการจีนยังต้องการเห็นการเติบโตที่ 5% เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับแรงงานในตลาด อย่างไรก็ตามเกิดคำถามว่า จีนจะสามารถนำปาฏิหาริย์กลับคืนมาสู่เศรษฐกิจได้หรือไม่เพราะประสบปัญหาวิกฤตหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ ประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เด็กเกิดใหม่น้อยลง รวมทั้งปัญหาขัดแย้งกับตะวันตก ที่ทำให้บริษัทตะวันตกเริ่มลดการลงทุนหรือย้ายออกจากจีนทำให้เงินลงทุนโดยตรงที่เข้าไปจีน (เอฟดีไอ) ในปลายปีที่แล้วลดลงเป็นครั้งแรก

นักเศรษฐศาสตร์บางคน เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจีนจะเกิด “เงินฝืด” และ ตามมาด้วย “ทศวรรษที่สูญหาย” แบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยประสบมาแล้วหลายสิบปี

ตลาดหุ้นมะกัน-กระทิงและความเสี่ยง

ตลาดหุ้นสหรัฐปี 2023 ทำสถิติใหม่ไปตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม อันเป็นวันประชุมเฟดครั้งสุดท้ายของปี โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดเหนือ 37,000 จุดได้เป็นครั้งแรก ส่วนอีกสองดัชนีคือเอสแอนด์พี 500 และแนสแดค ก็ล้วนปรับขึ้นมากเมื่อเทียบกับต้นปี หลังจากเฟดส่งสัญญาณว่าอาจไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอีกและจะเริ่มทยอยหั่นดอกเบี้ยในปี 2024 ทำให้เกิดความหวังสีชมพูในหมู่นักลงทุน

โดยโกลด์แมน แซกส์ ประเมินว่าดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปี 2024 จะเพิ่มขึ้น 8% ไปอยู่ที่ 5,100 จุด ได้แรงส่งจากเงินเฟ้อที่ลดลงและการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยคาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม เมษายนและพฤษภาคม

เบน เอมอนส์ ผู้จัดการอาวุโสพอร์ตการลงทุนของนิวเอดจ์ เวลท์ ระบุว่า ในปี 2024 เมื่อดอกเบี้ยลดลง นักลงทุนจะยอมนำเงินไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทวิจัย เน็ด เดวิส รีเสิร์ช เตือนว่า หนึ่งในความเสี่ยงมหภาคใหญ่ที่สุดต่อตลาดหุ้นสหรัฐในปี 2024 ก็คือ การที่เฟดลดขนาดงบดุลลงเกือบเดือนละ 1 แสนล้านดอลลาร์ อาจทำให้สภาพคล่องในตลาดลดลงอย่างรุนแรง จนส่งผลด้านลบต่อตลาดหุ้น ซึ่งอาจจะปรากฏให้เห็นในไตรมาส 2

ตลาดน้ำมันไม่ระคาย “โอเปก” ลดผลิต

ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และโอเปกพลัส ที่มีซาอุดีอาระเบียและรัสเซียเป็นพี่ใหญ่ ไม่ราบรื่นมาหลายปี และยังตามด้วยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ซาอุฯหันไปเข้าข้างจีนและรัสเซีย ทำให้ซาอุฯใช้อำนาจด้านน้ำมันเป็นเครื่องมือต่อรองกับอเมริกา โดยมักทำสวนทางกับสิ่งที่อเมริการ้องขอเสมอ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนปี 2024 ตลาดน้ำมันจะไม่ค่อยสนใจโอเปกมากนัก เมื่อสหรัฐอเมริกายุค “โจ ไบเดน” มีแนวโน้มจะผลิตน้ำมันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ณ สิ้นปี 2023 ระดับการผลิตจะแตะ 13.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากทำสถิติ 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวันไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน

บ็อบ แมคแนลลี ประธาน แรพิดัน เอเนอร์จี้ กรุ๊ป กล่าวว่า มันเป็นสิ่งเตือนความจำว่า สหรัฐมีแหล่งน้ำมันสำรองมหาศาล “อุตสาหกรรมของเราไม่ควรถูกประเมินต่ำเกินไป”

การเพิ่มกำลังผลิตมากเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐ ช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการที่โอเปกลดกำลังการผลิตลงอย่างมาก ขณะที่ประเทศนอกกลุ่มโอเปกอย่างแคนาดา และบราซิล ก็กำลังผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน

รีเบคกา บาบิน นักค้าหุ้นอาวุโส ของซีไอบีซี ไพรเวตเวลท์ ชี้ว่า แม้ซาอุฯและรัสเซีย พยายามจะลดการผลิตเพื่อดันราคาให้สูง แต่หลายประเทศนอกโอเปกก็มาเติมเต็มด้วยการผลิตมากขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำมันแข็งแกร่ง ต่อให้โอเปกหั่นกำลังการผลิตมากกว่านี้ ก็จะมีประเทศนอกโอเปกผลิตมาชดเชยเสมอ เผลอ ๆ อาจจบลงด้วยการที่น้ำมันล้นตลาดด้วยซ้ำไป