ทำไมคำทำนายร้าย ๆ ของ “เฟด” จบลงอย่าง “หอมหวาน” ในปี 2023

เจอโรม พาวเวลล์
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

เริ่มต้นปี 2023 ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ออกคำทำนายแนวโน้มเศรษฐกิจในทางย่ำแย่ น่ากลัวหดหู่ โดยต่างประสานเสียงว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะ “ถดถอย” เพราะว่าเจอปัจจัยลบใหญ่มาก ทั้งผลต่อเนื่องจากสงครามยูเครน-รัสเซีย เงินเฟ้อที่สูง และยังตามด้วยการเกิดวิกฤตธนาคาร ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ ที่ขาดสภาพคล่อง และขยายวงไปยังธนาคารอื่นอีกหลายแห่ง

เงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี ทำให้เฟดต้องปราบเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยมากและถี่ เป็นผลให้เศรษฐกิจแทบไม่เติบโต การว่างงานพุ่งขึ้น เฟดจึงคาดว่าจีดีพีตลอดปี 2023 น่าจะเติบโตได้เพียง 0.5% แต่กลายเป็นว่าในช่วงสิ้นปี ตัวเลขหลายอย่างในเดือนธันวาคมจบลงค่อนข้างหอมหวาน เฟดได้เปลี่ยนคำทำนายใหม่ โดยคาดว่าตลอดปี 2023 เศรษฐกิจจะเติบโตได้ราว 2.6% หลังจากไตรมาส 3 จีดีพีเติบโตสูงถึง 4.9% เกินคาดหมาย

รอยเตอร์ได้รวบรวมสาเหตุที่ทำให้คำทำนายร้าย ๆ ของเฟดในปี 2023 ไม่กลายเป็นจริง โดยระบุว่า มาตรการให้กู้ยืมฉุกเฉินแก่ธนาคารที่เกิดปัญหาได้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของภาคการเงิน ทำให้วิกฤตไม่ลุกลาม นอกจากนี้ยังมีภาวการณ์น่าประหลาดใจ 
อย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ (Productivity) รวมถึงพัฒนาการทางบวกในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการค้ำยันเศรษฐกิจ อย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานในตลาด เนื่องจากได้รับแรงจูงใจเพียงพอในการกลับคืนสู่ตลาดแรงงานอย่างแข็งแกร่ง ซึ่ง ราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ยอมรับว่าตลอดปีนี้ถือว่าเฟดโชคดีมาก เป็นสิ่งที่ไม่คาดหมาย

ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ที่ 1.8% แต่การที่ปี 2023 เฟดประเมินว่าจะขยายตัว 2.6% แสดงให้เห็นว่าโตเกินศักยภาพ ซึ่งเป็นไปได้ว่าถูกหนุนส่งโดยผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น การที่ผลิตภาพเพิ่มขึ้นเท่ากับว่าเฟดได้รับ “อาหารจากพระเจ้า” เพราะมันทำให้
เศรษฐกิจเติบโตเร็วโดยไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ เนื่องจากในแต่ละชั่วโมง แรงงานสามารถผลิตสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้นด้วยต้นทุนเท่าเดิม

ในด้านของเงินเฟ้อ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด เลิกใช้คำว่า “อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน” ในการอธิบายสถานการณ์เงินเฟ้อมานานแล้ว และในการประชุมครั้งสุดท้ายเดือนธันวาคมก็ไม่พูดถึงอีกเลย ตอนเกิดโควิด-19 ระบาด เฟดได้ทุ่มเงินอัดฉีเข้าไปในมือผู้บริโภคหลายล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ความต้องการพุ่งขึ้นในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าต่าง ๆ ทั่วโลกตึงตัว เกิดการขาดแคลนสินค้าหลายอย่าง เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ แต่ในปีนี้แรงกดดันเรื่องปริมาณสินค้าผ่อนคลายลง ราคาสินค้าต่ำลงดึงให้เงินเฟ้อทั่วไปลดลง

ในแง่ของกำลังซื้อผู้บริโภค มีประเด็นที่น่าสนใจว่า ถึงแม้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 จากรัฐบาลกลางที่เคยเป็นแรงผลักดันให้เกิดความต้องการซื้อจะสิ้นสุดลงไปนานแล้ว แต่กลับปรากฏว่าตลอดปี 2023 ครัวเรือนและรัฐบาลท้องถิ่นยังคงเหลือเงินจับจ่ายอย่างทรงพลังนับแสนล้านดอลลาร์มากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหมาย เห็นได้จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคมักจะสูงกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ประเมินเสมอ

บรรยากาศดี ๆ จากเฟดในช่วงท้ายปี ด้วยการตรึงดอกเบี้ยและส่งสัญญาณว่าจากนี้ไปน่าจะมีการเริ่มลดดอกเบี้ย ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐคึกคักอย่างมาก ดัชนีดาวโจนส์วันที่ 13 ธันวาคม ปิดตลาดเหนือ 37,000 จุดเป็นครั้งแรก และยังคงเดินหน้าขยับขึ้นต่อไปโดยนักลงทุนไม่สนใจคำเตือนที่ว่าอย่าตั้งความหวังสูงเกินไปว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยมากถึง 5 ครั้งในปี 2024

เอียน ลีนเจ็น แห่งบีเอ็มโอ แคปิตอลมาร์เก็ต ระบุว่า บรรดานักค้าหุ้นได้แรงเสริมจากข้อมูลการก่อสร้างบ้านใหม่เดือนพฤศจิกายนที่เพิ่มขึ้นมากถึง 14.8% เนื่องจากบ้านพร้อมขายที่มีอยู่ในตลาดมีจำนวนจำกัด เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะซอฟต์แลนดิ้ง ไม่เกิดภาวะถดถอย