เฟดจบรอบการขึ้นดอกเบี้ย คาดปีหน้าลด 0.75% ดันหุ้นพุ่งแรง 

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงข่าวหลังการประชุม FOMC วันที่ 13 ธันวาคม 2023
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงข่าวหลังการประชุม FOMC วันที่ 13 ธันวาคม 2023 (ภาพโดย Kevin Lamarque/ REUTERS)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ส่งสัญญาณชัดจบรอบขึ้นดอกเบี้ยแล้ว คาดการณ์ปีหน้าลด 0.75% ดันดัชนีหุ้นสหรัฐพุ่งแรง

วันที่ 13 ธันวาคม 2023 เวลา 14.00 น. ตามเวลา EST สหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 02.00 น. วันที่ 14 ธันวาคม ตามเวลาประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เผยผลการประชุมตัดสินใจนโยบายการเงิน โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตรา 5.25-5.5% และส่งสัญญาณว่าสิ้นสุดวงจรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีของสหรัฐ และการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นการคงอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกัน และเป็นไปตามที่นักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์คาดการณ์

ในเอกสารข่าวเผยแพร่ของธนาคารกลางสหรัฐระบุว่า ตัวชี้วัดล่าสุดชี้ให้เห็นว่าการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 3 การจ้างงานได้ชะลอลงตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อได้ผ่อนคลายลงในช่วงปีที่ผ่านมาแต่ยังคงสูง

ระบบธนาคารของสหรัฐมีเสถียรภาพและมีความสามารถในการรับมือวิกฤตและฟื้นตัว (resilient) เงื่อนไขทางการเงินและสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับครัวเรือนและธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังคงไม่แน่นอน คณะกรรมการยังคงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ 

คณะกรรมการพยายามที่จะบรรลุการจ้างงานสูงสุดและเงินเฟ้อในอัตรา 2% ในระยะยาว เพื่อสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ คณะกรรมการจึงตัดสินใจรักษาช่วงเป้าหมายสำหรับอัตราเงินกองทุนของรัฐบาลกลางไว้ที่ 5.25 ถึง 5.50% 

คณะกรรมการจะยังคงประเมินข้อมูลที่เข้ามาเพิ่มเติมและผลกระทบของมันที่มีต่อนโยบายการเงินต่อไป ในการพิจารณาขอบเขตของการกำหนดนโยบายเพิ่มเติมใด ๆ ที่อาจเหมาะสมเพื่อที่จะนำอัตราเงินเฟ้อให้กลับลงไปอยู่ที่ 2% เมื่อเวลาผ่านไป คณะกรรมการจะพิจารณาถึงความเข้มงวดสะสมของนโยบายการเงิน ความล่าช้าที่นโยบายการเงินส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ และพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเงิน 

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงลดการถือครองพันธบัตรกระทรวงการคลัง พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ที่ออกโดยสถาบันการเงินที่ภาครัฐค้ำประกัน ดังที่อธิบายไว้ในแผนที่ประกาศก่อนหน้านี้ 

คณะกรรมการมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะนำอัตราเงินเฟ้อกลับลงไปสู่เป้าหมาย 2%” ถ้อยแถลงของ FOMC ย้ำเป้าหมาย 

“ในการประเมินจุดยืนและท่าทีที่เหมาะสมของนโยบายการเงิน คณะกรรมการจะติดตามผลกระทบของข้อมูลที่เข้ามา เพื่อคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจต่อไป คณะกรรมการจะเตรียมปรับจุดยืนของนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากเกิดความเสี่ยงที่อาจขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการ การประเมินของคณะกรรมการจะพิจารณาข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงสภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและการคาดการณ์เงินเฟ้อ และพัฒนาการด้านการเงินและด้านการระหว่างประเทศ” 

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า เจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหากแรงกดดันด้านราคากลับมา เขาชี้ว่าขณะนี้ผู้กำหนดนโยบายกำลังหันมาให้ความสำคัญกับการลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงลดลงสู่เป้าหมาย 2%

การคาดการณ์รายไตรมาสแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงรวม 75 เบสิสพอยต์ (0.75%) ในปีหน้า ซึ่งเป็นอัตราการปรับลดที่เร็วกว่าที่ระบุไว้ในเดือนกันยายน แม้ว่าค่ามัธยฐานความคาดหวังสำหรับอัตราดอกเบี้ยเฟด ณ สิ้นปี 2024 จะอยู่ที่ 4.6% แต่คาดการณ์รายบุคคลนั้นแตกต่างกันอย่างมาก

ใน dot plot ของเฟด ซึ่งเป็นการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ผู้กำหนดนโยบายแต่ละคนคิดว่าเหมาะสม แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ 8 คนคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่า 75 เบสิสพอยต์ (น้อยกว่า 0.75%) ในขณะที่เจ้าหน้าที่อีก 5 คนคาดว่าจะมีการปรับลดลงมากกว่านั้น 

พาวเวลล์เน้นย้ำว่า การคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยไม่ใช่แผนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แต่ยอมรับว่าในการประชุมสัปดาห์นี้ ผู้กำหนดนโยบายการเงินได้หารือกันถึงคำถามที่ว่า เมื่อใดจึงจะเหมาะสมที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย 

“นั่นเริ่มปรากฏให้เห็นและเป็นหัวข้อถกเถียงอย่างชัดเจนในโลกนี้ และยังเป็นหัวข้อการพูดคุยสำหรับพวกเราในการประชุมของพวกเราวันนี้ด้วย” พาวเวลล์กล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุม

ทั้งนี้ การที่พาวเวลล์ไม่ตอบโต้คาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น ทำให้ดัชนีหุ้นสหรัฐพุ่งแรง ดัชนีดาวโจนส์พุ่งทำสถิติปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลร่วงลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ส่งผลให้ราคาพันธบัตรรัฐบาลรุ่นเก่าในตลาดพุ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน นักลงทุนก็ได้เพิ่มเดิมพันว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมเกือบจะแน่นอนแล้ว