
ระดับความตึงเครียดในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งในช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้ แต่เพราะว่ามีสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาสในตะวันออกกลาง ทำให้ในบางช่วง สปอตไลต์ไม่ได้ส่องมาที่เอเชียตะวันออกมากนัก
ถึงแม้ว่าโลกอาจจะไม่ได้โฟกัสมาทางนี้ แต่ประเทศ/ดินแดนในเอเชียตะวันออกล้วนแต่เตรียมพร้อมกับการปะทะเนื่องจากความตึงเครียดที่พร้อมปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยมีการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารกันอย่างทั่วถึง และเพิ่มขึ้นมากในระดับเป็นประวัติการณ์
รายงานฉบับใหม่ล่าสุดซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute : SIPRI) เผยให้เห็นว่า การใช้จ่ายทางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปี 2023 เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 411,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,213,165 ล้านบาท)
SIPRI ระบุว่า ค่าใช้จ่ายทางการทหารของจีนที่เพิ่มขึ้นได้ผลักดันการใช้จ่ายด้านการทหารของประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
จีน ซึ่งนับเป็นผู้ใช้จ่ายด้านการทหารรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา (916,000 ล้านดอลลาร์) ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับด้านการทหาร 296,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 10,956,440 ล้านบาท) ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 6.0% จากปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งที่ 29 ติดต่อกันเมื่อเทียบเป็นรายปี
ค่าใช้จ่ายด้านการทหารของจีนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายทางทหารทั้งหมดทั่วภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ขณะที่เพื่อนบ้านของจีนก็ได้เพิ่มงบประมาณด้านการทหารตามจีนไปด้วย
ญี่ปุ่น จัดสรรงบประมาณสำหรับการทหาร 50,200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,858,153 ล้านบาท) ในปี 2023 เพิ่มขึ้นถึง 11% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1972
“ญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะเสริมขีดความสามารถในการตอบโต้ด้วยการลงทุนมหาศาลในเครื่องบิน เรือ และขีปนาวุธพิสัยไกล” SIPRI ระบุ ทั้งนี้ ตามแผนของรัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการใช้จ่ายด้านการทหาร 310,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2023-2027
ไต้หวัน จัดสรรงบประมาณด้านการทหาร 16,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 614,449 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้าเช่นกัน ที่น่าสนใจมากคือ ข้อมูลบ่งชี้ว่า ไต้หวันได้เพิ่มงบประมาณด้านการทหารมากถึง 56% ในช่วงปี 2014-2023 โดยไต้หวันได้จัดตั้งกองทุนงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2020 และอีกครั้งในปี 2022 สำหรับการจัดหาเครื่องบินรบ F-16 และระบบกองทัพเรือ
ส่วน เกาหลีใต้ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์ไตรภาคีทางการทหารกับสหรัฐและญี่ปุ่น ได้ใช้จ่ายด้านการทหาร 47,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1,773,018.50 ล้านบาท) ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 1.1% จากปีก่อนหน้า และขณะนี้ กองทัพอากาศของสหรัฐและเกาหลีใต้กำลังฝึกซ้อมร่วมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา บนคาบสมุทรเกาหลี โดยมีเครื่องบินมากกว่า 100 ลำ เข้าร่วมการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริง

“จีนกำลังสั่งการงบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความพร้อมรบของกองทัพปลดปล่อยประชาชน สิ่งนี้กระตุ้นให้รัฐบาลญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ เพิ่มขีดความสามารถทางการทหารอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไป” เสี่ยว เหลียง (Xiao Liang) นักวิจัยจากโครงการรายจ่ายทางการทหารและการผลิตอาวุธของ SIPRI กล่าว
อย่างไรก็ตาม รายงานของ SIPRI เผยว่า ค่าใช้จ่ายทางการทหารเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของโลกเช่นกัน ซึ่งเป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2009 ที่ค่าใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นในทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคตามที่ SIPRI แบ่งภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ และภาพรวมงบประมาณทางการทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,443,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 90,427,645 ล้านบาท)
รัสเซียซึ่งอยู่ระหว่างทำสงครามกับยูเครน ใช้งบประมาณ 109,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 24% จากปีก่อนหน้า และคิดเป็น 16% ของค่าใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมด
ขณะที่ยูเครนมีการใช้จ่ายทางการทหารมากเป็นอันดับ 8 ของโลกที่ 64,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 เพิ่มขึ้น 51% จากปีก่อนหน้า ค่าใช้จ่ายทางการทหารของยูเครนคิดเป็นมากถึง 58% ของการใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมด
แต่เมื่อเทียบกันระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ค่าใช้จ่ายทางการทหารของยูเครนคิดเป็น 59% ของรัสเซียเท่านั้น