ญี่ปุ่น-นาโต้ยกระดับความร่วมมือ สร้างระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล ป้องกันภัยจีน-รัสเซีย

ญี่ปุ่น นาโต้
คิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้/ แฟ้มภาพ 12 กรกฎาคม 2023 (ภาพโดย Odd ANDERSEN / AFP)

ญี่ปุ่น-นาโต้ เดินหน้ายกระดับความร่วมมือ เตรียมสร้างระบบสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ป้องกันภัยคุกคามจากจีนและรัสเซีย 

วันที่ 19 มกราคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ญี่ปุ่นและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO-นาโต้) กำลังเจรจาเพื่อเริ่มสร้างระบบการสื่อสารที่ปลอดภัย สำหรับการแบ่งปัน-แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความมั่นคงที่มีความละเอียดอ่อนได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลไกใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองต่อการโจมตีทางไซเบอร์และการบิดเบือนข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นจากจีนและรัสเซีย

รัฐบาลญี่ปุ่นและนาโต้จะพิจารณาหลายทางเลือกในการสื่อสาร แต่มีแนวโน้มว่าจะใช้ระบบที่คล้ายกับระบบเชื่อมต่อที่สมาชิกนาโต้ใช้ที่มีชื่อเรียกว่า BICES ซึ่งกล่าวกันว่าระบบดังกล่าวมีความสามารถในการรักษาความปลอดภัยสูง และสามารถแบ่งปันข้อมูลจากพื้นที่ห่างไกลได้ 

ระบบการสื่อสารใหม่นี้จะใช้ในการหารือเกี่ยวกับข้อมูลด้านความมั่นคง ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ไปจนถึงระดับผู้นำรัฐบาล ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่มีกรอบเวลาที่แน่นอนในการจัดตั้งสายด่วนการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ แต่จะเดินหน้าต่อไปโดยเร็วที่สุด 

พัฒนาการใหม่นี้เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากญี่ปุ่นและนาโต้ได้ตกลงรับรองแผนความร่วมมือฉบับใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2023 ซึ่งเป็นการยกระดับความร่วมมือเพื่อป้องกัยภัยคุกคามจากจีนและรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ 

ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นและนาโต้ต้องสื่อสารแบบเห็นหน้ากันในการพูดคุยถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้พวกเขาประสานงานกันได้ยาก เกิดความล่าช้าในการแบ่งปัน-แลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงร้ายแรงในช่วงวิกฤต 

ทั้งนี้ นาโต้มุ่งเน้นการปกป้องภูมิภาคแอตแลนติกเหนือ และต้องการหลีกเลี่ยงการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงในวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นกับไต้หวัน อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่งในนาโต้บอกกับนิกเคอิว่า พวกเขาจะหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่นาโต้จะตอบสนองทางอ้อมในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินดังกล่าว เช่น การเข้าประจำการแทนทหารในกองกำลังสหรัฐที่ประจำการในยุโรป ถ้าหากสหรัฐต้องย้ายทรัพยากรมายังเอเชียตะวันออก 

ถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนั้น ด้วยช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่ในปัจจุบัน คงเป็นเรื่องยากสำหรับญี่ปุ่นที่จะได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกองกำลังนาโต้ได้อย่างทันทีทันใด ทั้งสองฝ่ายจึงตัดสินใจว่ามีความจำเป็นต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานการแบ่งปันข้อมูล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น