วิเคราะห์ รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่ม 17 ล้านล้านเยนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่หวั่นหนี้ท่วม

โตเกียว ญี่ปุ่น
กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ของญี่ปุ่นประกาศไว้ในการเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2023 ว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจ” เป็นอันดับแรก พร้อมให้คำมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพ้นจากภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจซบเซาให้ได้อย่างยั่งยืน โดยจะทำแผนเศรษฐกิจระยะ 3 ปีเพื่อเป้าหมายนี้ 

ในที่สุดก็เป็นอันชัดเจนแล้ว เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2023 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะใช้งบประมาณรวม 17 ล้านล้านเยน (ประมาณ 4.04 ล้านล้านบาท) และเมื่อบวกกับการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นและเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ขนาดของแพ็กเกจนี้จะมีมูลค่ารวม 21.8 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.22 ล้านบาท)

เปิดรายละเอียดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนหนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ “ลดภาษี” เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ภาคครัวเรือน โดยจะลดภาษีเงินได้ลง 30,000 เยนต่อคน และลดภาษีที่อยู่อาศัยลง 10,000 เยนต่อคน ขณะที่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับการยกเว้นภาษีแล้วจะได้รับเงิน 70,000 เยนเพื่อใช้ในการจับจ่ายด้วย 

ในอีกทางหนึ่งรัฐบาลจะขยายเวลาดำเนินมาตรการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคและเชื้อเพลิงที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2023 

สองมาตรการนี้จะใช้เงินรวมกันประมาณ 5 ล้านล้านเยน 

ส่วนการกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจจะใช้ “มาตรการจูงใจทางภาษี” เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการผลิตสินค้ายุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้

นอกจากนั้น ยังมีแผนการจัดตั้งกองทุนระยะเวลา 10 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านเยน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศโดยภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
ฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ภาพโดย Kiyoshi Ota/ Pool via REUTERS)

เหตุผลที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้เพิ่มหนี้กองใหญ่ 

การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินก้อนใหญ่นี้ถูกจับตามองว่าอาจส่งผลต่อการเงินการคลังของญี่ปุ่นที่มีหนี้กองมหึมาอยู่แล้ว หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงมากถึงประมาณ 1.435 ล้านล้านเยน ณ เดือนมีนาคม 2023 คิดเป็น 226% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามราคาปัจจุบัน (Nominal GDP) ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ของโลก 

ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นใช้เงินมหาศาลกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้ ไม่กังวลเรื่องหนี้หรืออย่างไร ?

คงต้องเริ่มมองกันจากสภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในเวลานี้…

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่ในภาวะเงินฝืดมาหลายทศวรรษ แล้วก็มาเจอภาวะสินค้าราคาสูงขึ้นเพราะต้นทุนสูง เรียกว่าเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุน (cost-push inflation) ตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงเวลานี้ ซึ่งถึงแม้ว่าคนญี่ปุ่นจะต้องการบริโภคแต่กำลังซื้อก็น้อยลง เพราะค่าจ้างเติบโตไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ เป็นภาวะที่เรียกว่า stagflation คือสินค้าราคาสูงขณะที่เศรษฐกิจชะลอ-กำลังซื้อไม่สูง 

อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมาย 2% มานานกว่า 1 ปี ขณะที่ “ค่าจ้างที่แท้จริง” ซึ่งเป็นค่าจ้างที่หักลบอัตราเงินเฟ้อแล้ว เพื่อให้เห็นอำนาจที่แท้จริงในการจับจ่ายใช้สอยของค่าจ้างนั้นลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 ณ เดือนสิงหาคม 2023 

สภาพแบบนี้ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจมืดมน ฟื้นจากแผลเป็นที่เกิดจากโควิด-19 ได้ช้า เป็นสภาวะที่รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าจำเป็นที่รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้น

ในขณะเดียวกัน การที่ญี่ปุ่นออกจากภาวะเงินฝืดมาอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ (แม้จะเป็นเงินเฟ้อจากฝั่งต้นทุน) ก็ทำให้รัฐบาลมองว่าต้องอาศัยจังหวะนี้ทำให้ประเทศออกจากภาวะเงินฝืดให้ได้อย่างยั่งยืน จึงต้องรีบเติมกำลังซื้อเพื่อกระตุ้นการบริโภคให้ทันการณ์ 

นายกฯญี่ปุ่นกล่าวว่า มีสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืดที่ยาวนาน และรัฐบาลหวังว่าจะทำให้แนวโน้มนี้ดำเนินต่อไป 

“เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังมองเห็นโอกาสครั้งใหญ่ที่เปิดกว้างเพื่อเปลี่ยนไปสู่ระดับใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ” นายกฯญี่ปุ่นกล่าว

“นั่นคือเหตุผลที่เราต้องช่วยบริษัทต่าง ๆ เพิ่มความสามารถในการทำกำไรและรายได้ เพื่อ [ให้บริษัท] ปรับขึ้นค่าจ้าง” เขาอธิบายเสริม

“เราหวังว่าจะกระตุ้นการบริโภคโดยการเพิ่มรายได้ของผู้คน และสร้างวงจรที่ดีในระบบเศรษฐกิจ” 

อีกเหตุผลที่จะตัดออกไปไม่ได้ก็คือ เหตุผลทางการเมือง เนื่องจากความเดือดร้อนของประชาชนจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คะแนนนิยมของนายกฯคิชิดะตกต่ำลง และสร้างแรงกดดันให้เขาต้องดำเนินการเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของประชาชน 

แต่ถึงแม้คิชิดะจะมีความพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็ดูเหมือนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่น่าจะทำให้ความนิยมของเขาเพิ่มขึ้นได้ การสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมื่อไม่กี่วันมานี้พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่ง (58%) บอกว่า ไม่มีความคาดหวังเชิงบวกต่อแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังคลอดออกมา

โตเกียว ญี่ปุ่น
กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นไม่กังวลเรื่องงบประมาณและเรื่องหนี้ ? 

ตามแผนที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้ว เงินงบประมาณส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะมาจากการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม (supplementary budget) ในปีงบประมาณปัจจุบันนี้ จำนวน 13.1 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3.12 ล้านล้านบาท) 

ส่วนเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่จะเพิ่มหนี้ซึ่งมหาศาลอยู่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นคงจะไม่กังวลเท่าไรนัก เพราะหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ ซึ่งกว่า 70% เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยให้ BOJ ซื้อพันธบัตรรัฐบาล 

นอกจากนั้น มีปัจจัยบวกในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ คือ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเจอวิกฤติโควิด-19 แต่รายได้ของรัฐบาลญี่ปุ่นทำ “นิวไฮ” มา 3 ปีติดต่อกันแล้ว โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2022 สูงถึง 71.14 ล้านล้านเยน (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีเงินสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนายกฯญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันเปิดประชุมสภาว่า “รายได้ (ภาษีของรัฐ) ที่เพิ่มขึ้นจะถูกส่งกลับคืนสู่ประชาชนในแบบที่ยุติธรรมและเหมาะสม” 

นอกจากนั้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบางภาคธุรกิจ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีแผนจะชดเชยไม่ให้รายได้หดหายไปโดยการเพิ่มอัตราภาษีสำหรับบางธุรกิจ  อย่างเช่น ภาษียาสูบ

คาดการณ์ผลลัพธ์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าได้คุ้มเสีย 

รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า แผนการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นได้โดยเฉลี่ยประมาณ 1.2% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า 

ส่วนผลของการอุดหนุนค่าน้ำมันและสาธารณูปโภค จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคโดยรวมลดลงประมาณ 1.0 จุดเปอร์เซ็นต์ (percentage point) ตั้งแต่เดือนมกราคมและเมษายนปีหน้า

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งสงสัยว่าเงินประมาณ 5 ล้านล้านเยนที่จะใช้ในการลดภาษีและการจ่ายเงินพยุงภาคครัวเรือนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้มากน้อยเพียงใด 

ทาคาฮิเดะ คิอุจิ (Takahide Kiuchi) อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัยโนมูระ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะยกระดับจีดีพีปีได้เพียงปีละ 0.19% 

“มันเป็นนโยบายที่ไม่คุ้มค่ามากนัก เนื่องจากช่องว่างทางเศรษฐกิจ (output gap) ของญี่ปุ่นกลับมาเป็นบวกแล้วในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เศรษฐกิจจึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นตั้งแต่แรก” อดีตกรรมการแบงก์ชาติญี่ปุ่นกล่าว