
จากที่นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ของญี่ปุ่นให้คำมั่นในการกล่าวเปิดการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2023 ว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจ” เป็นอันดับ 1 โดยให้คำมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพ้นจากภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจซบเซาให้ได้อย่างยั่งยืน โดยคิชิดะบอกว่ารัฐบาลจะเสนอแผนเศรษฐกิจ 3 ปี เพื่อเป้าหมายนี้
ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นจะใช้เงินประมาณ 21.8 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5.22 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023) สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้
แพ็กเกจเศรษฐกิจนี้จะให้ทุนสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อต่อภาคครัวเรือน หนุนให้บริษัทต่าง ๆ ขึ้นค่าจ้าง และให้การสนับสนุนการลงทุน และการเติบโตภายในประเทศ ก่อนหน้านี้ คิชิดะได้สั่งให้ลดภาษีเงินได้ และให้เงินช่วยเหลือสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของแพ็กเกจเศรษฐกิจนี้
เงินประมาณ 13.1 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3.14 ล้านล้านบาท) ที่จะถูกนำไปใช้สำหรับแพ็กเกจนี้จะมาจากงบประมาณเพิ่มเติม ขนาดโดยรวมของแพ็กเกจนี้ รวมถึงการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่เชื่อมโยงกับมาตรการต่าง ๆ ในแพ็กเกจนี้จะอยู่ที่ประมาณ 37.4 ล้านล้านเยน (ประมาณ 8.95 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ ความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการออกมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางคะแนนสนับสนุนคิชิดะที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2 ปีก่อน และท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ค่าจ้างที่แท้จริงในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 17 เดือนติดต่อกัน (นับถึงเดือนสิงหาคม 2023) เนื่องจากค่าจ้างเพิ่มไม่ทันอัตราเงินเฟ้อในประเทศ
ถึงแม้คิชิดะจะมีความพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่น่าจะทำให้ความนิยมของเขาเพิ่มขึ้นได้
การสำรวจโดยหนังสือพิมพ์นิกเคอิ (Nikkei) และ ANN News เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่าคะแนนสนับสนุนคิชิดะอยู่ที่ 33% และ 26.9% ตามลำดับ และการสำรวจยังแสดงให้เห็นด้วยว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีความคาดหวังเชิงบวกต่อแพ็กเกจเศรษฐกิจ
- นักวิเคราะห์มองอย่างไร เมื่อ BOJ เริ่มปรับทิศนโยบาย แต่ยังผ่อนคลายกว่าคาด
- ญี่ปุ่นผ่อนเกณฑ์ให้ต่างชาติได้สถานะ “พำนักเพื่อธุรกิจ” ง่ายขึ้น ดึงการลงทุน-คนเก่ง
- ญี่ปุ่นเขียนแผน 3 ปี ดึงประเทศพ้น “ภาวะเงินฝืด-เศรษฐกิจซบเซา” อย่างยั่งยืน
- เยอรมนีกำลังจะแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศ “เศรษฐกิจ” ใหญ่อันดับ 3 ของโลก
- การควบรวมกิจการทั่วโลกลดฮวบ 24% มีเพียงญี่ปุ่นสวนทางโลก โต 16%