เศรษฐกิจของ “ญี่ปุ่น” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนเหลือหลาย
ในขณะที่คนญี่ปุ่นที่ต้องการบริโภคก็มีกำลังในการจับจ่ายน้อย เนื่องจากต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ฝั่งคนอีกจำนวนมากที่มีรายได้สูงและมีเงินเก็บมากนั้นก็ไม่ค่อยอยากจับจ่ายใช้สอย
ที่เห็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นสูงกว่าเป้าหมาย 2% มาเป็นเวลากว่า 1 ปีนั้น จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าญี่ปุ่นออกจากภาวะ “เงินฝืด” แล้ว เพราะภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นเพราะต้นทุนสูงขึ้น (cost-push inflation) ไม่ได้เป็นเงินเฟ้อประเภทที่เกิดจากความต้องการบริโภคสูง (demand-pull inflation)
“ค่าจ้างที่แท้จริง” ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นค่าจ้างที่หักลบอัตราเงินเฟ้อแล้ว เพื่อให้เห็นอำนาจที่แท้จริงในการจับจ่ายใช้สอยของรายได้นั้นลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 ณ เดือนสิงหาคม 2023
ด้วยสภาพเช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมี “โจทย์” ที่ต้องแก้ปัญหาค่าครองชีพสูงซึ่งเกิดจากฝั่งต้นทุน พร้อมกับต้องกระตุ้นการจับจ่ายและการลงทุน เพื่อที่จะพาเศรษฐกิจของประเทศออกจาก “ภาวะเงินฝืด” ที่ทำให้ “เศรษฐกิจซบเซา” ให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่สามารถแก้ปัญหาราคาสินค้าสูงด้วยนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อลดการจับจ่ายใช้สอยได้เหมือนที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ทำกัน
นายกรัฐมนตรี “ฟูมิโอะ คิชิดะ” ของญี่ปุ่น ให้คำมั่นในการกล่าวเปิดการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2023 ว่า รัฐบาลของเขาจะให้ความสำคัญกับ “เศรษฐกิจ” เป็นอันดับ 1 โดยให้คำมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นพ้นจากภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจซบเซาให้ได้อย่างยั่งยืน
คิชิดะบอกว่า ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลจะเสนอแผนเศรษฐกิจ 3 ปี เพื่อเป้าหมายนี้
คิชิดะบอกว่าเขาเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังจะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นจริง ญี่ปุ่นจำเป็นต้องบรรลุการเพิ่มค่าจ้างสร้างอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการลงทุนผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
ส่วนหนึ่งในแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่น คือ “ลดภาษีเงินได้” เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ภาคครัวเรือน โดยถือโอกาสที่รัฐจัดเก็บรายได้ภาษีได้มากขึ้นคืนเงินภาษีกลับสู่ประชาชน ซึ่งเขาบอกว่า “รายได้ (ภาษีของรัฐ) ที่เพิ่มขึ้นจะถูกส่งกลับคืนสู่ประชาชนในแบบที่ยุติธรรมและเหมาะสม” และจะขยายเวลาดำเนินมาตรการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภคและเชื้อเพลิง อย่างไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซ ที่จะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ออกไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า
ส่วนการกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจ คิชิดะให้คำมั่นที่จะออก “มาตรการจูงใจทางภาษี” เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการผลิตสินค้ายุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้
สำหรับการลงทุนและการบริโภคที่อยู่ในขาลง นายกฯญี่ปุ่นระบุว่าจะดำเนินการขั้นรุนแรงและเข้มข้นเพื่อเสริมสร้างกำลังการผลิต โดยคาดว่าจะใช้เวลาปฏิรูปประมาณ 3 ปี เพื่อที่จะหลุดจากวงจรนี้ได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนั้น นายกฯญี่ปุ่นบอกด้วยว่า ญี่ปุ่นจะสร้างวิสัยทัศน์ความร่วมมือใหม่กับอาเซียนสำหรับอีก 5 ทศวรรษข้างหน้า
ทั้งนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลญี่ปุ่นสูงถึง 71.14 ล้านล้านเยน (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2022 ซึ่งทำ “นิวไฮ” เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน แต่ฝั่งหนี้สาธารณะก็สูงมากถึงประมาณ 1.435 ล้านล้านเยน (ณ เดือนมีนาคม 2023) คิดเป็น 226% ของ Nominal GDP หรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามราคาปัจจุบัน
ถึงแม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบางภาคธุรกิจ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็มีแผนจะชดเชยไม่ให้รายได้หดหายไป โดยการเพิ่มอัตราภาษีสำหรับบางธุรกิจ เช่น ภาษียาสูบ
การหารายได้อาจไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ปัญหาคือ แผนเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะเสนอแพ็กเกจสนับสนุนต่าง ๆ ถูกฝ่ายค้านโจมตีว่า “เป็นเครื่องมือในการหาเสียง” และเมื่อเสนอแผนจริงก็น่าจะโดนค้านหนัก
- เยอรมนีกำลังจะแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศ “เศรษฐกิจ” ใหญ่อันดับ 3 ของโลก
- โตเกียวนักท่องเที่ยวล้น ค่าโรงแรมพุ่ง ต่างชาติเที่ยวญี่ปุ่นยังไม่ไปเมืองอื่น
- ปัญหา “เงินฝืด” ที่ฉุดรั้งญี่ปุ่น ขึ้นค่าจ้างก็แก้ไม่ได้ ต้องกระตุ้นคนสูงวัยใช้จ่ายเคลื่อนเศรษฐกิจ
- ว่าด้วย “ทศวรรษที่สาบสูญ” ญี่ปุ่นออกแล้ว-จีนกำลังจะเข้า ?