กต.ย้ำ ไทยพร้อมเป็นตัวกลางเจรจาเมียนมา คาดค้าชายแดนแม่สอดลด 20%

กต. แถลงเมียนมา 24 เมษายน 2024
นายนิกรเดช พลางกูร

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แถลงย้ำ ไทยพร้อมเป็นตัวกลางเจรจาความขัดแย้งเมียนมา ชงประชุมอาเซียนทรอยกาและอาเซียนทรอยกาพลัสแล้ว ประมาณการการค้าชายแดนแม่สอดลด 20% มั่นใจจะกลับมาเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 ได้ในเร็ว ๆ นี้

วันที่ 24 เมษายน 2024 นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ซึ่งนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และผลการลงพื้นที่แม่สอดในช่วงบ่ายวันเดียวกัน  

นายนิกรเดช พลางกูร กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1/2567 ได้รับทราบสถานการณ์ว่ายังมีความไม่แน่นอนสูง มีความผันผวน มีการขยายพื้นที่การสู้รบบางส่วน เมืองเมียวดีและชายแดนไทยยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายต่อต้านและฝ่ายกองทัพเมียนมาต้องการยึด อย่างไรก็ตาม ในช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมาแนวโน้มดีขึ้น คนในพื้นที่ไม่ได้ยินเสียงปะทะกันหรือเสียงระเบิด 

ทั้งนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับหน่วยข่าวได้ประเมินสถานการณ์ไว้หลายสถานการณ์ รวมถึงสถานการณ์ที่จะมีผู้ลี้ภัยความไม่สงบเข้ามายังฝั่งไทยมากขึ้น 

“ผมขอเรียนย้ำท่าทีไทย ซึ่งผมได้เรียนย้ำมาหลายโอกาสว่า (1) ไทยมีการยึดมั่นในการรักษาอธิปไตยของคนไทย รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของพี่น้องชาวไทย (2) ไทยไม่ให้ใช้ดินแดนไทยในการดำเนินกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลต่างประเทศ ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด (3) ไทยยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยไม่เลือกปฏิบัติ นี่เป็นท่าที 3 ประการของไทยที่เรายึดมั่น”

นายนิกรเดชบอกอีกว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งมีนายปานปรีย์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน ได้มอบหมายงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายงานการสื่อสารต่อสาธารณชนไทยและต่างประเทศให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลักในการสื่อสารจากส่วนกลาง ส่วนศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตากจะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข่าวจากพื้นที่ 

ADVERTISMENT

และประธานได้สั่งการให้ที่ประชุมประเมินสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอต่อไป โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงและด้านการข่าว กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานด้านการทูต และจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องประสานงานด้านการทูต กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มชาติพันธุ์ 

“ทั้งนี้ ไทยได้ประสานให้มีการประชุมอาเซียนทรอยกา (ASEAN Troika-กลไกซึ่งประกอบด้วยประธานอาเซียนปัจจุบัน ก่อนหน้า และถัดไป) รวมถึงกรอบอาเซียนทรอยกาพลัส (ASEAN Troika Plus) ไปด้วยแล้ว ซึ่งการประสานดังกล่าวต้องทำผ่านประธานอาเซียนคือประเทศลาว”

ADVERTISMENT

“ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ใช่การกระทบกระทั่งระหว่างไทยกับเมียนมา และไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งในการปะทะในฝั่งเมียนมา ดังนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นปัญหาภายในของประเทศเมียนมาเอง”

“ไทยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อกลุ่มคนต่าง ๆ ที่จะขอเข้ามาหลบภัยว่า เราจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลเรือน หรือกลุ่มทหารที่ขอลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทย เรามีขั้นตอนที่จะเป็นหลักสากลที่จะให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการปลดอาวุธการเปลี่ยนเครื่องแบบ และการให้กลับประเทศเมื่อสถานการณ์สงบ เราจะใช้หลักการที่ว่าจะไม่ส่งกลับไปสู่อันตราย ทั้งนี้ การดำเนินการจะอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน”

นายนิกรเดชกล่าวอีกว่า ไทยมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป ทั้งการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การให้พื้นที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยความไม่สงบเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาประชาชนเมียนมาที่เข้ามาหลบภัยได้กลับไปส่วนหนึ่งแล้วในจำนวนค่อนข้างสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ในเมียนมาไม่ได้รุนแรงมากขึ้น ตอนนี้เหลือผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 650 คน และคาดว่ามีแนวโน้มที่จะเดินทางกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม กองกำลังนเรศวรซึ่งอยู่ในพื้นที่มีความพร้อมตลอดเวลา หากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลัง 

“การดำเนินการดูแลผู้ลี้ภัยความไม่สงบ ขอย้ำอีกครั้งว่าต้องเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชน”

ส่วนเรื่องการค้าชายแดน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การค้าชายแดนได้รับผลผลกระทบ ปริมาณการค้าลดลงประมาณหนึ่ง คาดว่าลดลงประมาณไม่เกิน 20% 

ปานปรีย์ แม่สอด
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงพื้นที่ชายแดนแม่สอด วันที่ 23 เมษายน 2024

“สิ่งที่สำคัญมากที่ท่านรองนายกฯลงพื้นที่คือ เรื่องการให้ขวัญกำลังใจแก่ประชาชน ท่านต้องการให้ประชาชนตามแนวชายแดนมีความสบายใจและมีความมั่นใจในมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ซึ่งก็พบว่าขวัญและกำลังใจของคนที่ชายแดนยังดีมากอยู่ เขาทราบดีว่าเขาสามารถขอย้ายไปยังพื้นที่ที่มีความปลอดภัยได้หากมีความจำเป็น โดยกองกำลังนเรศวรมีชุดทหารเดินสายให้ความรู้ ให้ความมั่นใจแก่ประชาชน ว่าพื้นที่แต่ละแห่งที่ประชาชนอาศัยอยู่นั้นมีความเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงอย่างไร ซึ่งลดความกังวลและความกลัวของคนไปได้มาก”  

นายนิกรเดชกล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ณ เช้านี้ ตามรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับสถานการณ์ดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยังถือว่าสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูงและอาจเปลี่ยนได้ตลอดเวลา 

“ย้ำว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยมีแผนที่จะรองรับสถานการณ์ในทุกรูปแบบ และขอให้ประชาชนในพื้นที่สบายใจ มีความไว้วางใจได้ว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดและดูแลอย่างเต็มที่” 

“ผมเชื่อว่าสะพานน่าจะเปิดได้ในเร็ว ๆ นี้ เมื่อวานท่านรองนายกฯก็ได้หารือกับหอการค้าจังหวัด เอกชนทุกฝ่ายก็มีความประสงค์เดียวกันว่าอยากให้การค้าชายแดนกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” 

นอกจากนั้น นายนิกรเดชได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงจุดยืนที่จะเป็น “Active Promoter of Peace” หรือผู้ส่งเสริมสันติภาพของไทยว่า ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเมียนมากระทบไทยมากที่สุด ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันประมาณ 2,400 กิโลเมตร ดังนั้น ไทยยังย้ำจุดยืนของการเป็น Active Promoter of Peace เป็นประเทศผู้ต้องการนำสันติสุขมาสู่เหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนออกมาจากการที่ไทยแสดงความพร้อมในการอำนวยความสะดวกในการพูดจากันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมา หากฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมามีความต้องการ ไทยก็มีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วย การเสนอให้มีการหารือทรอยกาพลัสก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่จะนำมาซึ่งสันติสุขความสงบในอนุภูมิภาคอาเซียน