ธนาคารจีน 67% สถานการณ์น่ากังวล ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ต่ำกว่าเส้นเตือน 

ธนาคารจีน
ธนาคารเพื่อการเกษตรของจีน (ภาพโดย Tingshu Wang/ REUTERS)

ธนาคารจีน 39 แห่ง (67% ของทั้งหมด) สถานการณ์น่ากังวล มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ต่ำกว่าเส้นเตือน ความมั่นคงต่ำ เผชิญความเสี่ยงหนี้เสียสูง โดยเฉพาะสินเชื่อในภาคอสังหาฯ  

นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2024 ว่า ธนาคารจดทะเบียนในจีนยังคงประสบปัญหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margins : NIM) หดตัว โดย 67% มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงต่ำกว่าระดับเส้นเตือนของอุตสาหกรรมการธนาคาร เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยการให้กู้ยืมลดลงจากอุปสงค์ที่ซบเซา และความไม่แน่นอนด้านเครดิตส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 

นิกเคอิรวบรวมข้อมูลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ 58 แห่งที่จดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง ซึ่งประกาศผลประกอบการประจำปีสิ้นสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2023 พบว่า อัตรากำไรของธนาคาร 39 แห่ง หรือ 67% ต่ำกว่าเส้นเตือนซึ่งกำหนดไว้ว่าไม่ควรต่ำกว่า 1.8%  

ขณะที่ตัวเลขส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) โดยรวมของธนาคารพาณิชย์จีน ตามรายงานของสำนักงานกำกับดูแลทางการเงินแห่งชาติของจีน (National Financial Regulatory Administration) อยู่ที่ 1.69% ณ เดือนธันวาคม 2023 ตัวเลขนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่จุดสูงสุดที่ 2.77% ในเดือนกันยายน 2012 แม้แต่ธนาคารของรัฐรายใหญ่ 4 รายก็มี NIM ต่ำกว่าเส้น 1.8% เช่นกัน รวมถึงธนาคารเพื่ออุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งประเทศจีน (Industrial and Commercial Bank of China) ซึ่งอยู่ที่ 1.61%

ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM เป็นดัชนีหนึ่งที่บ่งชี้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ถ้า NIM สูง กำไรของธนาคารก็จะยิ่งสูง และธนาคารก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ถ้า NIM น้อย ไปจนถึงขั้นติดลบมาก ๆ จะส่งผลกระทบทำให้อัตรากำไรของธนาคารพาณิชย์ลดลง 

สมาคมอุตสาหกรรมธนาคารกำหนดให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) 1.8% เป็นเส้นเตือนส่วนต่างดอกเบี้ยที่ไม่ควรต่ำกว่านี้ ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมธนาคารใช้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยและเกณฑ์อื่น ๆ เพื่อประเมินความแข็งแกร่งของธนาคารและปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารลงหากธนาคารใดมี NIM ต่ำกว่าเส้นนี้ 

ADVERTISMENT

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจีนที่แคบลงนั้นเป็นผลเนื่องมาจากอัตราการกู้ยืมที่ลดลงและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ธนาคารขนาดเล็กและขนาดกลางบางแห่งประสบปัญหาความไม่แน่นอนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้องจ่ายต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น 

ธนาคารที่ประสบปัญหาที่สุดคือ ธนาคารเซิ่งจิง (Shengjing Bank) ธนาคารท้องถิ่นในเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2023 อยู่ที่ 0.96% ลดลงจาก 1.34% ในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นธนาคารจดทะเบียนแห่งเดียวที่ NIM ลดลงต่ำกว่า 1% 

ADVERTISMENT

ปัจจัยที่เป็นปัญหาของธนาคารเซิ่งจิง คือการที่ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ (China Evergrande Group) ถือหุ้นอยู่ 34.5% โดยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคารจนถึงเดือนกันยายน 2021 

ปัญหาทางการเงินของเอเวอร์แกรนด์ทำให้รัฐบาลมณฑลเหลียวหนิงเกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดการแพร่กระจายของความไม่มั่นคงทางด้านเครดิต รัฐบาลมณฑลจึงให้การสนับสนุนผ่านบริษัทในเครือของรัฐบาล โดยจัดจำหน่ายหุ้นธนาคารเซิ่งจิงในส่วนที่เป็นของเอเวอร์แกรนด์ และสินทรัพย์สินเชื่อของธนาคารจำนวน 176,000 ล้านหยวน (ประมาณ 916,800 ล้านบาท) ถึงอย่างนั้นก็ตาม ความกังวลทางการเงินของธนาคารก็ยังคงมีอยู่ และต้นทุนทางการเงินก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

อีกหนึ่งธนาคารที่น่าห่วงคือ ไชน่า โปไห่ แบงก์ (China Bohai Bank) ธนาคารท้องถิ่นในมณฑลเทียนจิน ซึ่งมีส่วนต่างอัตราอัตราดอกเบี้ย 1.14% ในปี 2023 ลดลงจาก 1.5% ในปีก่อนหน้า ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการเงินและดอกเบี้ยอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเกือบ 10%

ไชน่า โปไห่ แบงก์ได้ให้สินเชื่อจำนวน 8,400 ล้านหยวน (ประมาณ 43,756 ล้านบาท) แก่ ไชน่า โอเชียนไวด์ โฮลดิงส์ (China Oceanwide Holdings) บริษัทการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับคำสั่งชำระบัญชีจากศาลในเบอร์มิวดาเมื่อเดือนกันยายน 2023 ปัญหาของ ไชน่า โอเชียนไวด์ โฮลดิงส์ ทำให้อนาคตของ ไชน่า โปไห่ มีความไม่แน่นอนมากขึ้น 

ข้อมูลของรัฐบาลจีนระบุว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์จีน ณ สิ้นปี 2023 อยู่ที่เพียง 1.59% แต่ผู้สังเกตการณ์หลายคนแย้งว่าการประเมินคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจีนนั้นหละหลวม และตัวเลขนี้ไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริง

นิกเคอิประมาณการอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์จีน ณ สิ้นปี 2023 ที่ประมาณ 10% และถ้าพิจารณาเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว อัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40% ตัวเลขนี้ครอบคลุมเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่บริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น ไม่รวมบริษัทอย่าง เอเวอร์แกรนด์ และคันทรี่ การ์เดน โฮลดิงส์ (Country Garden Holdings) ที่จดทะเบียนในฮ่องกง หรือบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดเลย ซึ่งบ่งชี้ว่าสถานการณ์หนี้เสียที่เกิดขึ้นจริงอาจเลวร้ายกว่านี้