แกะไส้ใน หนี้ต่อจีดีพีจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 287.8% กับนัยทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจจีน
ภาพโดย Florence Lo/ REUTERS

เศรษฐกิจจีนเหมือนยืนอยู่บนปากเหว อยู่ในภาวะ “แย่” หลายด้าน และยังมีปัจจัยลบรุมเร้าหลายทาง 

มีข้อมูลจากรายงานของสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติ (National Institution for Finance and Development : NIFD) ของจีนเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ในปี 2023 อัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีของจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 287.8% โดยเพิ่มขึ้นจาก 274.3% ในปี 2022 

“อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพี” ที่ว่านี้เป็นอัตราส่วนหนี้สินรวม ทั้งหนี้ภาคครัวเรือน หนี้บริษัทนอกภาคการเงิน และหนี้รัฐ ต่อจีดีพี (macro leverage ratio) 

อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่พุ่งขึ้นดูเหมือนจะชวนให้คิดว่า ในจีนมีการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นมาก แต่จะใช่อย่างที่คิดหรือไม่ ? 

เมื่อดูในรายละเอียดพบว่า การกู้ยืมของจีนในปี 2023 เพิ่มขึ้นไม่มาก แต่อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่พุ่งสูงเป็นผลมาจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจ ทำให้อัตราส่วนหนี้สินโดยรวมเพิ่มขึ้นเร็วแซงหน้าอัตราการขยายตัวของการกู้ยืม   

NIFD เองก็ระบุไว้ในรายงานว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างจำกัดและอัตราส่วนหนี้โดยรวมต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2023 มีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ADVERTISMENT

หนี้สินรวมของทั้งภาคครัวเรือน องค์กร และภาครัฐในปี 2023 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอช้าลงที่ 9.8% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปี 2022 และยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ 

อัตราส่วนหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 62.2% ในปี 2022 เป็น 63.5% ในปี 2023 ขณะที่อัตราส่วนหนี้ของบริษัทนอกภาคการเงินต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 161.5% เป็น 168.4% ส่วนอัตราส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีขยายตัวจาก 50.6% เป็น 55.9% 

ADVERTISMENT

การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ของจีนซึ่งตัดผลของอัตราเงินเฟ้อออกแล้วเติบโต 5.2% บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศตามราคาปัจจุบัน ณ ปี 2023 (Nominal GDP) โตชะลอลงเหลือ 4.6% จาก 4.8% ในปี 2022 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ และสะท้อนว่ามีแรงกดดันด้านเงินฝืดต่อเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น

สิ่งนี้สะท้อนอะไรที่น่ากังวลบ้าง ? 

จาง จื่อเว่ย (Zhang Zhiwei) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของพินพอยต์ แอสเสต แมเนจเมนต์ (Pinpoint Asset Management) วิเคราะห์ว่า ความจริงที่ว่าการเติบโตของ Nominal GDP ต่ำกว่าการเติบโตของ Real GDP นั้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่สามารถเติบโตได้ ดังนั้น การมีนโยบายการเงินและการคลังที่สนับสนุนมากขึ้น จะช่วยให้จีนฟื้นศักยภาพการเติบโตได้ 

NIFD ก็ระบุในรายงานว่า การเติบโตของการกู้ยืมที่ต่ำกว่า 10% บ่งชี้ถึงมีดีมานด์เงินทุนน้อยในภาคธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคและค่าใช้จ่ายในการลงทุน การเติบโตของหนี้ที่ลดลงอีกจะมีผลกระทบร้ายแรงยิ่งขึ้นต่อเศรษฐกิจ ทางออกเดียวในการควบคุมอัตราส่วนหนี้สิน คือ การเพิ่มดีมานด์ที่มีประสิทธิภาพและผลักดันการเติบโตของ Nominal GDP

NIFD ประเมินว่า หากการกู้ยืมโดยรวมขยายตัว 10% ขณะที่ Nominal GDP เพิ่มขึ้น 5% ในปี 2024 อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อจีดีพีของจีนจะเพิ่มขึ้น 14 จุดเปอร์เซ็นต์ จนมีอัตราส่วนทะลุ 300%

NIFD เรียกร้องให้รัฐมีการสนับสนุนเชิงนโยบายมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ 

“รัฐบาลควรกำหนดเป้าหมายการเติบโตของ Nominal GDP ที่ 7% และมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้น หากไม่บรรลุเป้าหมาย การทำเช่นนี้จะพลิกความคาดหวังของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” NIFD แนะ 

อีกทั้งยังแนะถึงการกระตุ้นการเติบโตของ Nominal GDP อย่างลงรายละเอียดว่า รัฐบาลต้องยอมคงระดับการขาดดุลการคลังเอาไว้ในระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลกลางกู้ยืมเงินมากขึ้นเพื่อช่วยรัฐบาลท้องถิ่นลดภาระหนี้ อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ประสานกับนโยบายกระตุ้นทางการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ