IMF เพิ่มคาดการณ์จีดีพีโลก เศรษฐกิจสหรัฐโต-นโยบายการคลังจีนเป็นแรงหนุน

เศรษฐกิจสหรัฐ
นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ภาพโดย Charly TRIBALLEAU / AFP)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีโลกในปี 2024 เป็น 3.1% จากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่คาดว่าจะโต 2.9% โดยระบุว่ามีแรงหนุนจากเศรษฐกิจสหรัฐที่จะโตมากกว่าที่คาด บวกกับการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังของจีน

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2024 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับอัพเดตเดือนมกราคม 2024 ซึ่งในการคาดการณ์ครั้งใหม่นี้ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 เป็นโต 3.1% และปี 2025 โต 3.2% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม 2023 ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2024 จะโต 2.9% และปี 2025 จะโต 3.0% 

IMF ให้เหตุผลการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบของเศรษฐกิจโลกว่า มีแรงหนุนมาจากเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนามีความสามารถในการฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ บวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังของจีน 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2024-2025 นั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตระหว่างปี 2000-2019 ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 3.8% 

“เศรษฐกิจโลกยังคงแสดงความยืดหยุ่นอย่างน่าทึ่ง และตอนนี้เราอยู่ในขั้นสุดท้ายสู่การลงจอดอย่างนุ่มนวล โดยอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตยังคงอยู่ … แต่การขยายตัวยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ และอาจมีความวุ่นวายรออยู่ข้างหน้า” ปิแอร์-โอลิวิเยร์ กูรินชาส (Pierre-Olivier Gourinchas) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF กล่าว

สำหรับสหรัฐอเมริกาในปี 2024 นี้ IMF ได้เพิ่มการคาดการณ์การเติบโตเป็น 2.1% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ที่ 1.5% โดยอิงจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังคงเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากการเติบโต 2.5% ในปี 2023 เนื่องจากผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ความเข้มงวดทางการคลังอย่างค่อยเป็นค่อยไป และตลาดแรงงานที่อ่อนแอลงเป็นตัวฉุดรั้งอุปสงค์ 

สำหรับการค้าโลก IMF คาดการณ์การเติบโตที่ 3.3% ในปี 2024 และ 3.6% ในปี 2025 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในอดีตที่โต 4.9% และกล่าวย้ำเตือนอีกครั้งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่การค้าโลกจะแตกแยกเป็นกลุ่มคู่แข่ง โดยประเทศต่าง ๆ กำหนดข้อจำกัดทางการค้าใหม่ประมาณ 3,000 รายการในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเกือบ 3 เท่าของจำนวนที่มีในปี 2019 

สำหรับภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลสำคัญต่อเศรษฐกิจทั่วโลก IMF กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงเร็วกว่าที่คาดในภูมิภาคต่าง ๆ ส่วนใหญ่ของโลก ท่ามกลางการคลี่คล้ายของปัญหาด้านอุปทาน และการผ่อนคลายลงของนโยบายการเงินที่เข้มงวด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วโลกคาดว่าจะลดลงเป็น 5.8% ในปี 2024 และลดลงเหลือ 4.4% ในปี 2025 โดยคาดการณ์ของปี 2025 ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ 

ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มที่จะเกิด Hard Landing หรือแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยปราบเงินเฟ้อได้ลดน้อยลง และความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกก็มีความสมดุลในวงกว้าง

ในทางกลับกัน การลดเงินเฟ้อได้เร็วขึ้นอาจส่งผลภาวะทางการเงินผ่อนคลายลง นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายเกินความจำเป็นและเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ในการคาดการณ์อาจบ่งบอกถึงการที่เศรษฐกิจจะเติบโตสูงขึ้นชั่วคราว แต่เสี่ยงที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าในภายหลัง โมเมนตัมการปฏิรูปโครงสร้างที่แข็งแกร่งขึ้นอาจช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิตด้วยผลกระทบข้ามพรมแดนเชิงบวก 

ส่วนปัจจัยในด้านลบที่ IMF กล่าวถึงคือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นจากภาวะช็อกทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการโจมตีเรือในทะเลแดงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการหยุดชะงักของอุปทาน หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่คงอยู่อาจทำให้ภาวะการเงินตึงตัวยาวนานขึ้น ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศจีน หรือที่อื่น ๆ และการขึ้นภาษี และการลดค่าใช้จ่ายก็อาจทำให้เกิดความผิดหวังในการเติบโตอีกด้วย

IMF แนะผู้กำหนดนโยบายว่า ความท้าทายในระยะสั้นของผู้กำหนดนโยบาย คือ การจัดการอัตราเงินเฟ้อขั้นสุดท้ายให้บรรลุเป้าหมาย โดยปรับเทียบนโยบายการเงินเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ และเมื่อแรงกดดันด้านค่าจ้างและราคาค่อย ๆ หายไปอย่างเห็นได้ชัด จะต้องปรับจุดยืนนโยบายให้มีความเข้มงวดน้อยลง

ในขณะเดียวกัน สำหรับหลาย ๆ กรณี ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและเศรษฐกิจสามารถดูดซับผลกระทบของการเข้มงวดทางการคลังได้ดีขึ้นแล้ว สิ่งจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายต้องทำคือ การมุ่งเน้นไปที่การใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง เพื่อที่จะสร้างขีดความสามารถด้านงบประมาณขึ้นใหม่ เพื่อให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การเพิ่มรายได้ของรัฐ การจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายใหม่ และการลดหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น

การปฏิรูปโครงสร้างที่กำหนดเป้าหมายและจัดเรียงลำดับอย่างระมัดระวัง จะช่วยเสริมการเติบโตของผลิตภาพและความยั่งยืนของหนี้ และเร่งการยกระดับไปสู่ระดับรายได้ที่สูงขึ้น การประสานงานพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้สิน และสร้างพื้นที่สำหรับการลงทุนที่จำเป็น รวมทั้งบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ