“วิกฤตทะเลแดง” ขยายวง ฉุดเศรษฐกิจโลกทรุด-ซบเซา

YEMEN-ISRAEL-PALESTINIAN-CONFLICT-HUTHI-SHIP
Photo by AFP
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อราวกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพากันออกมาย้ำเตือนอีกครั้งว่า ปัญหาระดับวิกฤตในอาณาบริเวณทะเลแดง ที่เชื่อมต่อกับเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างคลองสุเอซ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาวะการ
ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

เหตุผลเพราะวิกฤตทะเลแดงกำลังส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบการค้าโลก ผลักดันให้ราคาพลังงาน โดยเฉพาะ “น้ำมันดิบแพงขึ้น” กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ชะลอการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมไปในที่สุด

จนถึงขณะนี้ กองกำลังติดอาวุธฮูตี ในเยเมน ที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านโจมตีเรือสินค้าและอื่น ๆ ไปแล้วอย่างน้อยที่สุด 27 ครั้ง ทั้งด้วยโดรน หรือด้วยจรวด หลังจากเกิดเหตุการณ์การสู้รบระหว่างฮามาสกับอิสราเอลขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา

กองทัพผสมนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพของออสเตรเลีย, บาห์เรน, แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ ปฏิบัติการตอบโต้และป้องปราม โดยการโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ รวมแล้วอย่างน้อย 60 จุด ใน 16 พื้นที่ภายในประเทศเยเมน ในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา

การ “ตอบโต้โดยตรง” ดังกล่าวส่งผลให้เกิดผลในแง่มุมที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่ออิหร่านโจมตีเป้าหมายที่เป็น “ศัตรู” ในประเทศอย่าง ซีเรีย, อิรัก และปากีสถาน ในขณะที่อิสราเอลส่งสัญญาณเตือนว่ากำลังเตรียมการพร้อมเพื่อโจมตีกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน

ส่วนฮูตีออกมายืนยันว่า การโจมตีของกองทัพอเมริกัน ไม่เพียง “ไม่ระคายผิว” เท่านั้น ยังประกาศพร้อมโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดงต่อไป นอกเหนือจากการโจมตีตอบโต้สหรัฐอเมริกาโดยตรง

Advertisment

ทั้งหมดนั่นเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ศึกฮามาส-อิสราเอล ที่ขยายตัวมาเป็นวิกฤตทะเลแดง สามารถลุกลามออกไปเป็นสงครามใหญ่โตระดับภูมิภาค ระดับโลกได้อย่างไร

ในรายงานว่าด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกเตือนเอาไว้ว่า วิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางเมื่อผนวกเข้ากับสงครามในยูเครน กำลังกลายเป็น “อันตรายที่แท้จริง” ต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

Advertisment

“การขยายตัวของความขัดแย้งสามารถทำให้ราคาของพลังงานพุ่งสูงขึ้น ก่อผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อกิจกรรม (ทางเศรษฐกิจ) และภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก”

รายงานดังกล่าวระบุต่อไปอีกว่า การโจมตีต่อเรือพาณิชย์เดินสมุทรที่ใช้เส้นทางเดินเรือผ่านทะเลแดงเมื่อเร็ว ๆ นี้ เริ่มส่งผลกระทบต่อเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญ ๆ แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลให้เครือข่ายห่วงโซ่ซัพพลายที่มีปัญหาอยู่แล้วให้ทรุดตัวลงไปอีก พร้อมกับเพิ่มโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นตามมา

“ในกรณีที่ความขัดแย้งเกิดลุกลามขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เส้นทางการขนถ่ายพลังงานอาจเกิดอุปสรรคอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่ภาวะราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ และทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์”

ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และยิ่งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

จอห์น เลเวลลิน อดีตหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ชี้ว่า สถานการณ์ในตะวันออกกลาง “ได้ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาร้ายแรง” ไปแล้ว โอกาสเป็นไปได้ที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกทั้งระบบเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 30% ภายในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว และเชื่อว่าอีกไม่นานความขัดแย้งในทะเลแดงก็จะลามถึงช่องแคบฮอร์มุซ และตะวันออกกลางโดยรวม

การโจมตีในทะเลแดงส่งผลให้ 4 ใน 5 บริษัทเดินเรือพาณิชย์ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศระงับเส้นทางผ่านคลองสุเอซและทะเลแดงมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

บริษัทเดินเรือทั้งหลายพากันมองหา “เส้นทางใหม่” กันให้วุ่น สำหรับใช้เป็นทางเลือกทดแทน

ปัญหาก็คือ เส้นทางทางเลือกที่ดีที่สุดอย่างการแล่นผ่านคลองปานามาก็ทำไม่ได้ เพราะคลองปานามาก็กำลังประสบปัญหาระดับวิกฤตเช่นเดียวกัน

คลองปานามาเจอวิกฤตจากภาวะแห้งแล้งอย่างหนักในปานามา จนจำเป็นต้องลดจำนวนเรือที่แล่นผ่านคลองจาก 36 ลำต่อวัน เหลือเพียง 24 ลำต่อวัน

และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 18 ลำ หรือน้อยกว่านั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ถึงตอนนั้นคาดกันว่าราคาสินค้าและวัตถุดิบต่าง ๆ จะพาเหรดกันแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว