ลอบสังหาร “โดนัลด์ ทรัมป์” การถดถอยทางการเมืองที่อเมริกา

trump
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

“โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในตอนปลายปีนี้ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก หลังจากรอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารระหว่างปราศรัยในการรณรงค์หาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา

มือปืน ซึ่งถูกระบุภายหลังว่า คือ นายโทมัส แมทธิว ครูกส์ วัย 20 ปี มีโอกาสลั่นไกได้หลายนัด หนึ่งในจำนวนนั้นเฉียดทรัมป์บริเวณใกล้กกหูด้านขวา แต่ถือว่าไม่สาหัสกระไรนัก ยังคงลุกขึ้นยืนชูกำปั้นเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ได้หลังจากนั้น ผู้ที่สังเวยชีวิตคือหนึ่งในผู้เข้าร่วมฟังการปราศรัย โดยมีอีก 2 รายได้รับบาดเจ็บ

“โทมัส ครูกส์” ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เอฟบีไอระบุว่า เขาเป็นชาวเบเทลปาร์ก เมืองเล็ก ๆ ในเพนซิลเวเนีย ห่างจากจุดเกิดเหตุไปราว 70 กิโลเมตร ครั้งหนึ่งเคยขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุมูลเหตุจูงใจใด ๆ ที่ทำให้เขาตัดสินใจลงมือลอบสังหารครั้งนี้

ไม่ว่าแรงจูงใจจะเป็นเช่นไร ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า การลอบสังหารครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ไปโดยตลอดอย่างช่วยไม่ได้ เพียงไม่รู้ว่าจะส่งผลในทางใดเท่านั้นเอง

ที่แน่ ๆ ก็คือ การลอบสังหาร นำพาการเมืองอเมริกันหวนกลับสู่ยุคมืด ยุคแห่งความรุนแรง ที่ใช้กระสุนเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปแล้ว

ประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันแสดงให้เห็นว่า เกิดความรุนแรงขึ้นเป็นระยะ ๆ ประธานาธิบดีอเมริกัน 4 ราย ถูกลอบสังหาร นอกจากนั้น ซีเครตเซอร์วิส หน่วยงานอารักขาบุคคลสำคัญโดยเฉพาะยังทำลายแผนลอบสังหารได้อีกหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งครั้งหนึ่งซึ่งเป้าหมายคือ ทรัมป์ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ADVERTISMENT

ซีเครตเซอร์วิส ก่อตั้งขึ้นตามคำสั่งของ “อับราฮัม ลินคอล์น” ก่อนหน้าที่จะถูกลอบสังหารเสียชีวิตในปี 1865 ไม่นานนัก เดิมทีเพื่อเป็นหน่วยงานจัดการกับขบวนการทำธนบัตรปลอมโดยเฉพาะ แต่หลังการสังหารลินคอล์น และประธานาธิบดี วิลเลียม แมคคินลีย์ ในปี 1901 ก็ถูกปรับเปลี่ยนเป็นหน่วยงานสำหรับอารักขาบุคคลสำคัญทางการเมืองโดยเฉพาะ

สถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ถูกนำไปเปรียบเทียบกับหลายยุคหลายสมัยที่ความรุนแรงทวีขึ้นสู่จุดสูงสุด บางคนชี้ว่าใกล้เคียงกับเมื่อครั้ง “ธีโอดอร์ รูสเวลต์” ที่ถูกกระสุนเข้าหน้าอกระหว่างการปราศรัยในปี 1912 แต่ยังกล่าวต่อจนจบหลังผู้เกี่ยวข้องระบุว่าบาดแผลไม่คุกคามถึงชีวิต

มีบ้างที่ชี้ว่า เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งนี้คล้ายคลึงกับเหตุเมื่อปี 1963 เมื่อครั้งที่ ซีเครตเซอร์วิส ล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุด ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ “จอห์น เอฟ. เคนเนดี” ถูกสังหารได้ หรือไม่ก็เป็นแบบเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 1968 เมื่อ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี น้องชายของเจเอฟเค ถูกสังหารระหว่างการหาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ซึ่งส่งผลให้นักการเมืองโนเนมอย่าง ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน จากพรรครีพับลิกัน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีในเวลาต่อมา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า แม้แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดการพยายามลอบสังหารครั้งนี้ หลายฝ่ายก็เชื่อว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” มีโอกาสล้นเหลือที่จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเฉพาะหลังการดีเบต ที่ถูกอุปมาเหมือนการฆ่าตัวตายทางการเมืองของ “โจ ไบเดน” จากเดโมแครต

นักวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้คือผลพวงจากเหตุรุนแรงทางการเมือง และการแบ่งขั้ว แบ่งฝักฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งทวีขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่ปี 2017 เรื่อยมา

ยิ่งนับวันอเมริกันจำนวนไม่น้อยยอมรับกับความรุนแรงทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้ชัดจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยชิคาโก ระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยใช้กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจกว่า 2,000 คน

ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มีคนอเมริกันถึง 10% ยอมรับการใช้กำลังรุนแรงว่าเป็นวิธีที่ชอบธรรมในการป้องกันไม่ให้ทรัมป์ กลายเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง

ในจำนวน 10% ที่ว่านี้ มีมากถึง 31% ที่ยอมรับว่า ตนมีปืนอยู่ในครอบครอง และอีก 6% ระบุว่า ตนมีประสบการณ์ทางด้านการทหาร

10% อาจเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงกระไรนัก แต่หากพิจารณาในความเป็นจริง จำนวน 10% จากจำนวนอเมริกันทั้งประเทศ ก็เป็นจำนวนอเมริกันที่มากมายในระดับที่ “มีนัยสำคัญ” ได้เลยทีเดียว

การลอบสังหารทรัมป์ อาจเป็นเพียงเครื่องเตือนความทรงจำว่า สังคมอเมริกัน ยิ่งนับวันยิ่งแตกแยกและเคียดแค้นอาฆาตซึ่งกันและกันมากขึ้นทุกวันแล้ว เท่านั้นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง