เหตุผลที่ “สิงคโปร์” ได้เป็นเมืองหลวงชีวการแพทย์ บริษัทยาระดับโลกตบเท้าตั้งโรงงาน

บรรยากาศเมืองสิงคโปร์ (ภาพโดย Swapnil Bapat จาก Unsplash)
บรรยากาศเมืองสิงคโปร์ (ภาพโดย Swapnil Bapat จาก Unsplash)

สิงคโปร์ ประเทศขนาดเล็ก ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพสูงลิ่วในทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี นอกจากจะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลกแล้ว ยังได้รับการเรียกขานว่าเป็น “เมืองหลวงชีวการแพทย์” หรือศูนย์กลางการผลิตยาแห่งหนึ่งของโลกด้วย 

ปัจจุบัน 7 บริษัทจาก 10 บริษัทยาชั้นนำของโลกมีโรงงานผลิตยาอยู่ในสิงคโปร์ 

แม้ว่าจะคาดได้ว่าตลาดเอเชียเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงและเหมาะสมอย่างมากต่อการลงทุน แต่ก็น่าสนใจหาคำตอบอย่างยิ่งว่าทำไมสิงคโปร์จึงเป็นตัวเลือกแรกสำหรับบรรดาบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำของโลก

สิงคโปร์ ศูนย์กลางวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์

ดังที่กล่าวไปว่าบริษัทยาชั้นนำจำนวนมากมีโรงงานผลิตยาอยู่ในประเทศสิงคโปร์มาแล้วหลายปี และล่าสุด ตามการรายงานของนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2024 เผยให้เห็นว่า เฉพาะในปีนี้ มีบริษัทยายักษ์ใหญ่ประกาศการลงทุนในสิงคโปร์แล้ว 3 ราย 

ไฟเซอร์ (Pfizer) ยักษ์ใหญ่ด้านยาของสหรัฐได้เปิดโรงงานมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 26,000 ล้านบาท) เพื่อผลิตส่วนผสมสำคัญสำหรับยารักษามะเร็งและยาอื่น ๆ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นการขยายพื้นที่การผลิตในสิงคโปร์ตะวันตก เพื่อผลิต “สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม” (active pharmaceutical ingredients) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ทางการแพทย์สำหรับยารักษามะเร็ง ยาแก้ปวด และยาปฏิชีวนะ

แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) รับปากไว้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าจะลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 52,000 ล้านบาท) สร้างโรงงานแห่งแรกในสิงคโปร์เพื่อผลิตยาเคมีบำบัด (chemotherapy) และยามุ่งเป้า (targeted therapy)

Advertisment

และเมื่อต้นปีนี้ โนวาร์ตีส (Novartis) บริษัทยาของสวิตเซอร์แลนด์ประกาศว่าจะลงทุน 256 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,000 ล้านบาท) ขยายโรงงานชีวเภสัชภัณฑ์ในสิงคโปร์เพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วเอเชีย

ตลาดเอเชียเป็นปัจจัยหนุนสิงคโปร์ 

รายงานจากนิกเคอิ เอเชีย กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ (biomedical industry) ในทวีปเอเชียว่า มีโอกาสเติบโตสูง เพราะเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีผู้ป่วยมะเร็งมากที่สุด เนื่องจากมีประชากรสูงอายุจำนวนมาก โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในปี 2022 เอเชียมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 49.2% จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก และผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 56.1% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทั่วโลก 

Advertisment

ตามข้อมูลของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP) ประชากรสูงอายุทำให้ความต้องการการรักษามะเร็งเพิ่มมากขึ้น ในปี 2020 ประชากรเอเชีย-แปซิฟิก 13.6% มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายในปี 2050  

เอเชียนับเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งและมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทผู้ผลิตยาระดับโลกหลายรายต่างคาดว่ายารักษามะเร็งและยาแก้ปวดจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญในอีกหลายปีข้างหน้า การลงทุนเพื่อขยายการผลิตจึงเริ่มขึ้น 

ข้อได้เปรียบเฉพาะตัวของสิงคโปร์

ทำไมบริษัทยาชั้นนำเหล่านั้นเลือกที่จะทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในสิงคโปร์ จนทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองหลวงด้านชีวการแพทย์ระดับโลก โดยมีโรงงานผลิตของบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกตั้งอยู่ เป็นฐานการผลิตยาต่าง ๆ มากมายตั้งแต่ตัวยาสำคัญ (active ingredients) ไปจนถึงยาชีววัตถุ (biologics) และเซลล์บำบัด

นิกเคอิ เอเชีย อธิบายว่า นับตั้งแต่รัฐบาลสิงคโปร์ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในปี 2000 สิงคโปร์ได้ดึงดูดอุตสาหกรรมชีวการแพทย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวไปสู่การผลิตขั้นสูง โดยเสนอแรงจูงใจและเงินอุดหนุนอย่างใจกว้าง 

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังได้สร้างกลุ่มการวิจัยและพัฒนา เช่น “ไบโอโพลิส” (Biopolis) เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนาสำหรับบริษัทชีวการแพทย์ หน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

กล่าวโดยสรุปคือ สิงคโปร์มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการสนับสนุนจากรัฐ 

ความแข็งแกร่งภาคอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ของสิงคโปร์

ตามข้อมูลของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ EDB (Economic Development Board) ปัจจุบันมีแรงงานในสิงคโปร์ทำงานในภาคอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (biopharmaceutical) กว่า 9,000 คน ซึ่งมากกว่าสองเท่าของจำนวนในช่วงต้นทศวรรษ 2000  

อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ถือเป็นเสาหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ คิดเป็น 2.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของสิงคโปร์ในปี 2022 และผลิตภัณฑ์ยาจากโรงงานในในสิงคโปร์ที่ขายอยู่ในตลาดโลกมีมูลค่าเกือบ 39,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1 ล้านล้านบาท)  

คาดว่าอุตสาหกรรมนี้ยังคงจะขยายการผลิตในสิงคโปร์ต่อไป เนื่องจากสิงคโปร์มีความสำคัญมากขึ้นต่อบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขยายตลาดในประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย