จีนเงินเฟ้อเพิ่มสูงสุดในรอบห้าเดือน แต่นักวิเคราะห์มองเศรษฐกิจฝืดต่อทั้งปี

ผู้คนเลือกซื้อแอปเปิ้ลช่วงเทศกาลตรุษจีน ภาพโดย REUTERS/Florence Lo
ผู้คนเลือกซื้อแอปเปิ้ลช่วงเทศกาลตรุษจีน ภาพโดย REUTERS/Florence Lo

ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนเพิ่ม 0.5% (YOY) สูงสุดในรอบห้าเดือน แต่ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงชะลอตัว และการใช้จ่ายผู้บริโภคยังคงโตต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นักวิเคราะห์มองจีนจะยังคงเผชิญแรงกดดันด้านเงินฝืดต่อไปตลอดปี

รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในจีนเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบห้าเดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงชะลอตัว สะท้อนให้เห็นถึงภาวะทางเศรษฐกิจที่ปนเปกันระหว่างการใช้จ่ายผู้บริโภคที่เร่งตัวขึ้นกับกิจกรรมโรงงานที่ยังคงอ่อนแอ

นักวิเคราะห์มองว่า จีนจะยังคงเผชิญแรงกดดันด้านเงินฝืดต่อไปตลอดปี เว้นแต่ว่าจะสามารถจัดการกับการบริโภคในประเทศที่ซบเซาได้ นอกจากนี้ ด้วยภัยภาษีจากโดนัลด์ ทรัมป์ จะสร้างแรงกดดันในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลจีนอีกด้วย

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ที่เผยแพร่เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2025 พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายปี (YOY) มากกว่าในเดือนธันวาคมที่เพิ่ม 0.1% 

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมผลของราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมกราคม จากที่เพิ่ม 0.4% ในเดือนธันวาคม

สี เทียนเฉิน (Xu Tianchen) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit) กล่าวว่า แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น แต่ดัชนีราคาผู้ผลิตกลับไม่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเลยในระยะสั้น เนื่องจากการผลิตที่ล้นเกินในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหากนำตัวปรับลดผลิตภัณฑ์ (GDP Deflator) มาคำนวณ จะพบว่าต้องใช้เวลาอีกสองถึงสามไตรมาสจึงจะผ่านพ้นภาวะเงินฝืดออกไปได้

ADVERTISMENT

ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงฤดูกาล เนื่องจากเทศกาลตรุษจีนในปีนี้เริ่มในเดือนมกราคม ต่างจากปี 2024 ที่เริ่มในเดือนกุมภาพันธ์ ราคาสินค้าจึงเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้คนกักตุนอาหารไว้สำหรับการรวมญาติ

ราคาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้น 8.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี เงินเฟ้อภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 7.0% ราคาตั๋วภาพยนตร์และการแสดงมโหรสพเพิ่มขึ้น 11.0%

ADVERTISMENT

ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคตลอดช่วงเทศกาลที่รายงานออกมาดูปนเปกันไป สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อค่าจ้างและตำแหน่งงาน

นักวิเคราะห์จากเอเอ็นแซดประเมินว่า แม้ผู้บริโภคชาวจีนจะใช้จ่ายไปกับการชมภาพยนตร์ การช็อปปิ้ง การจัดเลี้ยง และการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น แต่การใช้จ่ายต่อหัวระหว่างช่วงเทศกาลตรุษจีนกลับเพิ่มเพียง 1.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งน้อยกว่าที่เคยเพิ่ม 9.4% ในปี 2024

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน (MOM) ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือนธันวาคม

ตลอดปี 2024 ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 0.2% สอดคล้องกับระดับในปีก่อนหน้า และต่ำกว่าเป้าหมาย 3% ของรัฐบาล พลาดเป้าเป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน

บรูซ ผาง (Bruce Pang) รองศาสตราจารย์พิเศษที่ซียูเอชเค บิสซิเนส สกูล (CUHK Business School) กล่าวว่า หลายมณฑลในจีนประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2025 ไว้ต่ำกว่า 3% โดยเฉลี่ย แสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของระดับราคา

การผลิตในจีนหดตัวในเดือนมกราคม เช่นเดียวกับกิจกรรมภาคบริการที่อ่อนแอ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น รัฐบาลจีนมีเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5% แต่กำแพงภาษีจากสหรัฐจะสร้างแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของจีน ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา

ดัชนีราคาผู้ผลิตร่วงลง 2.3% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ตรงกันกับตัวเลขในเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นว่าการผลิตยังคงชะลอตัวเป็นเดือนที่ 28 ติดต่อกัน

จาง จื้อเหว่ย (Zhiwei Zhang) ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่พินพอยต์ แอสเซต แมเนจเมนต์ (Pinpoint Asset Management) กล่าวว่า นโยบายการเงินและการคลังน่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะมีการประชุมสองสภาที่จัดเป็นประจำทุกเดือนมีนาคม โดยการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซาดูไม่เป็นปัญหาสำคัญเท่าความท้าทายจากปัจจัยภายนอก