
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
นักสังเกตการณ์และบรรดาผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ในวันที่ 2 เมษายน 2025 นี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เตรียมจะประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรของประเทศ ตามที่เคยข่มขู่เอาไว้ในไม่ช้าไม่นานหลังหวนกลับคืนสู่ทำเนียบขาว
รวมทั้งการประกาศยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปในบางกรณี จนเป็นที่มาของความปั่นป่วน ผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดหุ้น เพราะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รวมทั้งความหวาดผวาว่า นโยบายของทรัมป์จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย ตกต่ำขึ้นตามมา
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทรัมป์ทั้งแสดงออกผ่านสื่อและผ่านการโพสต์ข้อความในสื่อโซเชียลมีเดียว่า “เรื่องใหญ่” กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายนนี้ เป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญสูงมาก จนดูเหมือนว่า ทำให้ทรัมป์เองไม่มีวันยอมรามือล่าถอยจากเรื่องนี้เป็นอันขาด
ข้อที่น่าสังเกตก็คือว่า ในวันดังกล่าว เป็นวันที่ประกาศยืดเวลาการบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีขาเข้าจากแคนาดา และเม็กซิโก ออกไป 30 วัน ถึงกำหนดสิ้นสุดพอดี แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สิ่งที่ทรัมป์หมายถึง ไม่น่าจะเป็นเพียงแค่เรื่องดังกล่าวเท่านั้น หากแต่ยังมีสิ่งบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นำสหรัฐอเมริกา ยังมีแผนดำเนินการไว้มากกว่านั้นมากในวันเดียวกันนั้น
ทั้งทรัมป์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เรียกวันที่ 2 เมษายนว่า เป็น “วันประกาศอิสรภาพ” ตัวผู้นำสหรัฐอเมริกาเอง โพสต์ข้อความเป็นนัยไว้ในโซเชียลมีเดีย ความว่า “บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐอเมริกาที่ยิ่งใหญ่แต่เดิม จะได้รับเงิน และความเคารพนับถือกลับคืนมา” ในวันที่ 2 เมษายนนี้
ในขณะที่ “สกอต เบสเซนต์” รัฐมนตรีคลัง ก็ออกมาพูดเรื่องเดียวกันกับผู้สื่อข่าว เพียงแต่ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงวันที่จะประกาศเท่านั้น
แม้ว่าทางรัฐมนตรีเบสเซนต์ยังคงยืนกรานว่า เรื่องภาษีอากรขาเข้าของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นเรื่องที่ “เจรจาต่อรองกันได้” เพื่อให้หลุดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของกำแพงภาษีอเมริกัน แต่สำนักข่าวหลายสำนักรวมทั้ง รอยเตอร์ กลับได้รับคำบอกเล่าจากแหล่งข่าวว่า ตราบเท่าที่อัตราภาษีศุลกากรของทั้งสองฝ่ายยังไม่เท่ากัน หรืออัตราภาษีของสหรัฐอเมริกาไม่ได้สูงกว่า ตราบนั้นประเทศนั้น ๆ ก็จะยังตกเป็นเหยื่อในประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีครั้งนี้อย่างแน่นอน
ตามรายงานของวอชิงตัน โพสต์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกา จะใช้วันที่ 2 เมษายนดังกล่าว ประกาศขึ้นภาษีขาเข้าอัตราใหม่กับ “สินค้าที่นำเข้ามาในสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งหมด” ข้อมูลของวอชิงตัน โพสต์ ระบุไว้ว่า จนถึงขณะนี้สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีสำหรับสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว รวมเป็นมูลค่าราว 800,000 ล้านดอลลาร์
แต่ในการประกาศปรับภาษีครั้งใหม่นี้ จะขยายวงออกไปครอบคลุมสินค้ารวมแล้วมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างแน่นอน แต่ในส่วนของอัตราเรียกเก็บที่แน่นอนของภาษีอากรขาเข้าเหล่านี้ ยังคงอยู่ระหว่างการหารือกันในแวดวงของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ประกอบด้วย ทรัมป์, เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดี, เบสเซนต์, โฮวาร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ และปีเตอร์ นาวาร์โร ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสายเหยี่ยวที่ทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านนโยบายการค้าต่างประเทศให้กับทรัมป์มาตั้งแต่เมื่อครั้งครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก
ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ รายงานของวอชิงตัน โพสต์ ยืนยันรายงานข่าวก่อนหน้านี้ที่ปรากฏในวอลล์สตรีต เจอร์นัล ซึ่งระบุว่า ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์ กำลังพิจารณาจำแนกประเทศคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐ ออกเป็น 3 “ตะกร้า” หรือ 3 ระดับด้วยกัน คือกลุ่มประเทศระดับสูง กลาง และต่ำ
สิ่งที่ยังไม่แน่ชัดสำหรับกรณีนี้ก็คือ การจำแนกคู่ค้าดังกล่าว จะถูกนำไปใช้เพื่อกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรใหม่สำหรับแต่ละประเทศในกลุ่มนั้น ๆ ตามระดับดังกล่าวหรือไม่เท่านั้นเอง
ผู้ที่เฝ้าจับตามองรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ในขณะนี้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะในการดำรงตำแหน่งสมัยแรก หรือในช่วงแรก ๆ ของการกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งก็ตาม ทรัมป์มักใช้นโยบายทางภาษีเป็นเสมือนเครื่องมือในการข่มขู่ เพื่อให้ฝ่ายตรงกันข้ามยินยอมดำเนินการประการหนึ่งประการใดตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการก่อนที่มาตรการกำแพงภาษีจะมีผลบังคับใช้ แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะแตกต่างออกไป เพราะดูเหมือนว่า สิ่งที่ทรัมป์ต้องการก็คือ การปล่อยให้กำแพงภาษีรอบใหม่นี้ มีผลบังคับใช้อย่างจริงจังเสียมากกว่า
ตัวประธานาธิบดีทรัมป์เองตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวไว้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อถูกถามว่า ในกรณีการปรับพิกัดอัตราภาษีใหม่ให้ “สมน้ำสมเนื้อ” ของทรัมป์นั้น มีการ “ยืดหยุ่น” ให้ประเทศคู่ค้าได้หรือไม่ คำตอบของทรัมป์น่าสนใจ เพราะแม้ผู้นำสหรัฐจะยอมรับว่า คำว่า “ยืดหยุ่น” ถือเป็นคำสำคัญคำหนึ่งจนต้องมีอยู่บ้างก็ตาม แต่ในเวลาเดียวกันก็ย้ำชัดเจนอีกครั้งว่า “แต่โดยพื้นฐานแล้ว มันต้องสมน้ำสมเนื้อนะ” ความพยายามสร้างความกระจ่างของทรัมป์ จึงเท่ากับเป็นการสร้างความคลุมเครือและไม่แน่นอนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก
ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ปฏิกิริยาของ “เฟด” หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ต่อสิ่งที่ทรัมป์เรียกว่า “ความเจ็บปวด” ที่จะมาจากนโยบายกำแพงภาษีของตน ฟอร์จูนตั้งข้อสังเกตว่า “เจอโรม เพาเวลล์” ประธานเฟด ตอบคำถามโดยใช้คำคำเดียวกับที่เคยใช้ตอบ เมื่อถูกถามถึงความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน นั่นคือระบุว่า เป็นเพียง “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” เท่านั้น
เพาเวลล์ตอบคำถามดังกล่าวหลังจากที่เฟด ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเอาไว้ที่ระดับเดิม เนื่องจาก “ความไม่แน่นอนที่แวดล้อมอยู่โดยรอบภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้น” คำถามก็คือว่า ประธานเฟดกำลังเป็นกังวลกับนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์อยู่ใช่หรือไม่ ?
เมื่อมองเข้าไปจากภายนอก นโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศเท่านั้นก็ตาม แต่ในเวลาเดียวกันก็จะก่อให้เกิด “ชุดปัญหาท้าทาย” ที่ซับซ้อนขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวมของโลก
สิ่งที่ทรัมป์ก่อให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความตึงเครียดทางการค้าก็ดี, การเกิดความปั่นป่วนในระบบห่วงโซ่การผลิต, เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และการเกิดความบาดหมางระหว่างประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดปั่นป่วนผันผวนทั้งสิ้น ทั้งยังส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกในระยะยาว ที่อาจถึงขั้นกลายเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการค้าโลกไปเลยก็เป็นได้