เพลิงไหม้ “นอเทรอดาม” ฟื้นวิกฤตสู่โอกาส “มาครง”

เปลวเพลิงที่ลุกโชนเหนือหลังคาไม้โอ๊กเก่าแก่ของมหาวิหาร “นอเทรอดาม” ที่ตั้งตระหง่านกลางแม่น้ำแซน กรุงปารีส ของประเทศฝรั่งเศสกว่า 850 ปี เมื่อ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกแก่ชาวฝรั่งเศสและผู้คนทั่วโลก โบสถ์คาทอลิกศิลปะโกธิกแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญ และศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชาวฝรั่งเศส ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศมายาวนาน

“คามิล ปาสคาล” นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส กล่าวด้วยว่า “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงความเจ็บปวด แต่เป็นการจบชีวิตของความทรงจำและอัตลักษณ์ของฝรั่งเศส ที่มีมากว่า 8 ศตวรรษครึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยมีเหตุการณ์สำคัญใดที่ไม่ได้รับการเฉลิมฉลองหรือย้ำเตือนโดยระฆังของนอเทรอดาม สิ่งที่ถูกเผาไหม้ในคืนนี้ คือ หัวใจของคนทั้งชาติ”

ขณะเหล่ามหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์ดังและองค์กรยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่ประกาศร่วมระดมทุนแล้วกว่า 1,000 ล้านยูโร เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารอย่างเร่งด่วน

รายงานของ “โปลิติโก” สำนักข่าวของสหรัฐอเมริการะบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา “ฝรั่งเศส” เผชิญกับความรุนแรงที่สร้างความสูญเสียอยู่หลายครั้ง ทั้งจากการโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้ายหลายระลอกในปี 2015 จนไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุม “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ออกมาประท้วงต่อต้านการบริหารงานของรัฐบาลฝรั่งเศส ในช่วง 22 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสถานที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะอาคารร้านค้าบนถนนฌ็องป์เซลิเซ่ ที่ได้รับความเสียหายทั้งจากการปล้นและการเผาทำลาย รวมถึง “อาร์กเดอทรียงฟ์” ที่ถูกพ่นสีทับอีกด้วย

เหตุการณ์เพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดามในครั้งนี้ ทำให้ประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง” แห่งฝรั่งเศส ตัดสินใจเลื่อนกำหนดการเดิมที่จะแถลงการณ์นโยบายเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลือง ก่อนที่จะแถลงการณ์อีกครั้งในเวลาต่อมา โดยได้กล่าวถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้และแผนการฟื้นฟูมหาวิหารให้กลับมางดงามภายใน 5 ปี ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวของ “โปลิติโก” ตั้งข้อสังเกตว่า คำพูดที่กระชับและท่าทีที่เคร่งขรึมของนายมาครงที่แสดงออกในระหว่างแถลงการณ์ เต็มไปด้วยสารทางการเมืองที่พุ่งตรงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองที่ต่อต้านเขา อย่างคำกล่าวที่ว่า “ผมเชื่ออย่างจริงจังว่า สถานการณ์จะขึ้นอยู่กับเราว่าจะเปลี่ยนหายนะนี้ให้เป็นโอกาสที่จะร่วมมือกัน และคิดถึงเกี่ยวกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ หรือสิ่งที่เราควรจะเป็น เพื่อพัฒนาพวกเราเอง”

ขณะที่ จอห์น ริชฟิลด์ บรรณาธิการข่าวต่างประเทศของ “ดิ อินดีเพ็นเดนต์” มองว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ฝรั่งเศสไร้เสถียรภาพและกำลังแตกแยก ถ้อยแถลงของผู้นำมาครงเป็นความพยายามที่จะสร้างความเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” ของคนในชาติขึ้นอีกครั้ง

แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อกั๊กเหลืองจะยุติการเคลื่อนไหวไปในไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะเกิดเหตุโศกนาฏกรรมนี้ ทว่าก็มีการนัดหมายและประกาศกร้าวว่า 20 เม.ย.นี้ จะชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อต่อต้านนโยบายของมาครง ซึ่งเดิมทางการฝรั่งเศสเกรงว่าจะเป็นการก่อจลาจลและปล้นสะดมในถนนฌ็องป์เซลิเซ่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้มหาวิหาร ซึ่งถือเป็นความสูญเสียของชาติ ก็ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ากระแสการชุมนุมของเสื้อกั๊กเหลืองจะลดลง โดยริชฟิลด์มองว่า หากมีการชุมนุมจนเกิดจลาจลขึ้นอีก จะทำให้คะแนนนิยมของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองลดลงเช่นกัน

ขณะที่คงต้องจับตาว่าข้อเรียกร้องความสามัคคีของชาวฝรั่งเศสของมาครงเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่และมาครงจะสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้างคะแนนนิยมจากการจัดการสถานการณ์ของชาติให้ผ่านพ้นความเลวร้ายไปได้ หรือฝรั่งเศสจะยังตกอยู่ในความวุ่นวายทางการเมืองต่อไป ท่ามกลางสัญลักษณ์ของชาติที่มอดไหม้