การบินทั่วโลกอ่วมเสี่ยงตกงาน 46 ล้านคน

อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจที่บาดเจ็บหนักสุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลกเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ขณะที่ “วัคซีน” ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจดังกล่าวกลับมาสู่จุดเดิมได้ยังไม่มีความชัดเจน

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า “กลุ่มปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ” (เอทีเอจี) องค์กรพันธมิตรอุตสาหกรรมการบินระดับโลก เปิดเผยรายงานฉบับใหม่คาดการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้ตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องรวม 46 ล้านคน

จากทั้งหมด 88 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียงานทั้งเป็นการถาวรและชั่วคราวภายในต้นปี 2021 โดยอุตสาหกรรมการบินและท่องเที่ยวทั่วโลกจะยังคงตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อยจึงจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดียวกับปี 2019

รายงานดังกล่าวอ้างอิงการวิเคราะห์ของ “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” ยังระบุว่า การสูญเสียตำแหน่งงานแบ่งเป็น งานสายการบิน สนามบิน และบริษัทการบินพลเรือน ประมาณ 4.8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งคิดเป็นอัตราการเลิกจ้างสูงถึง 43% ขณะที่อีกราว 26 ล้านตำแหน่งที่เสี่ยงจะสูญเสียงาน อยู่ในกลุ่มอุตฯท่องเที่ยวที่พึ่งพิงการเดินทางทางอากาศ และอีก 15 ล้านตำแหน่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชนของคมนาคมขนส่งทางอากาศ อย่างเช่น ผู้ผลิตเครื่องบิน บริษัทจัดหาสินค้า บริษัทจัดการอาหาร และบริษัทก่อสร้างสนามบิน

ขณะที่สายการบินรายใหญ่ต่างทยอยปรับลดพนักงานกันมาอย่างต่อเนื่อง อย่างสายการบินในยุโรป เช่น ลุฟท์ฮันซ่า บริติชแอร์เวย์ ไรอันแอร์ แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม และสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ ที่เปิดเผยว่ามีราว 50,000 ตำแหน่งอยู่ในความเสี่ยงถูกเลิกจ้างในขณะนี้ ขณะที่กลุ่มสายการบินอเมริกันก็อาจต้องลดคนถึง 100,000 ตำแหน่ง หากรัฐสภาสหรัฐไม่ขยายมาตรการความช่วยเหลือธุรกิจการบินเพิ่มเติม

รายงานยังชี้ว่า จำนวนผู้โดยสารการบินตลอดทั้งปีนี้จะลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของปี 2019 เนื่องจากเป็นการหยุดชะงักทั้งระบบทั่วโลก โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเกือบหยุดนิ่ง 100% ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสายการบินคาดว่าจะหดตัวถึง 52% ในปีนี้ คิดเป็นความเสียหายถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของจีดีพีโลก

แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว และหลายสายการบินก็พยายามปรับตัวโดยการใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักเดินทาง แต่ปริมาณการเดินทางโดยสารเครื่องบินยังคงซบเซา

ข้อมูลของ “ทียูไอ” บริษัทด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ระดับโลกระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวในยุโรปช่วงฤดูร้อน มิ.ย.-ส.ค.ที่ผ่านมา ลดลงถึง 81% จากช่วงเดียวกันของปี 2019 แม้ว่าหลายประเทศในยุโรปจะเปิดรับนักเดินทางตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มิ.ย.แล้ว และปริมาณนักท่องเที่ยวในฤดูหนาวปลายปีนี้ก็คาดว่าจะลดลงราว 40% เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักเดินทางที่ยังไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้

“ไมเคิล กิลล์” ผู้อำนวยการบริหารของเอทีเอจีได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกมีมาตรการควบคุมโรคที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเดินทางและธุรกิจการบิน พร้อมทั้งระบุว่า “เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่าง ๆ ที่จะต้องทำทุกวิถีทางให้ภาคส่วนนี้สามารถกลับมายืนหยัดได้ด้วยตนเอง เพื่อที่เราจะได้นำงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านั้นกลับคืนมา”