“ไบเดน” ขู่คว่ำบาตรเมียนมา-นักวิเคราะห์ชี้อำนาจสหรัฐฯมีจำกัด

สหรัฐฯขู่คว่ำบาตรเมียนมา
REUTERS/Tom Brenner/File Photo

“ไบเดน” ผู้นำสหรัฐฯ ขู่คว่ำบาตรเมียนมา เตือนทุกประเทศยืนหยัดต่อสู้เพื่อชาวเมียนมา ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้ปฏิกิริยาของสหรัฐฯ ที่มีต่อการรัฐประหารในเมียนมาต่างจากครั้งรัฐประหารไทย

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 รอยเตอร์ส รายงานว่า นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ว่าจะคว่ำบาตรเมียนมาอีกครั้ง หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหาร พร้อมกันนี้สหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ออกมากดดันให้กองทัพเมียนสละอำนาจ

นายไบเดนได้ประณามการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน และการควบคุมนางอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งและเจ้าของรางวัลโนเบล โดยระบุว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม

วิกฤตในเมียนมาครั้งนี้นับเป็นการทดสอบครั้งสำคัญของคำมั่นสัญญาที่นายไบเดนกล่าวไว้ว่าจะเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อรับมือกับความท้าทายระหว่างประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งจุดยืนดังกล่าวขัดแย้งกับแนวทางของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี ที่ยึดหลัก “อเมริกาต้องมาก่อน”

นอกจากนี้ ยังถือเป็นไม่กี่ครั้งที่คนในพรรคเดโมแครตของนายไบเดนกับพรรครีพับลิกันมีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้เกิดผลที่จะตามมา

“ประชาคมระหว่างประเทศควรรวมตัวกันเป็นเสียงเดียวเพื่อกดดันกองทัพเมียนมาให้สละอำนาจที่ยึดได้ในทันที พร้อมกับปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวและเจ้าหน้าที่ที่พวกเขาได้ควบคุมตัวไป” นายไบเดนกล่าวในแถลงการณ์

“สหรัฐฯ ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยยึดจากความก้าวหน้าไปสู่ประชาธิปไตย แต่การเดินถอยหลังนั้นจะนำไปสู่การทบทวนการใช้กฎหมายคว่ำบาตรของเราโดยทันที เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม” เขากล่าว

นายไบเดนเตือนด้วยว่า สหรัฐฯ จะจดจำผู้ที่ยืนหยัดร่วมกับชาวเมียนมาในห้วงเวลาที่ยากลำบากนี้

“เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วทั้งภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ตลอดจนการดำเนินการต่อผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการล้มล้างการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา” เขากล่าว

นายไบเดนยังเรียกร้องให้กองทัพในเมียนมายกเลิกข้อจำกัดด้านโทรคมนาคมและงดการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งเผยกับรอยเตอร์สว่า ฝ่ายบริหารได้จัดการประชุมภายในระดับสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ทั้งรัฐบาลตอบสนอง และวางแผนปรึกษกับรัฐสภาอย่างใกล้ชิด

นักวิเคราะห์เตือนอำนาจของสหรัฐฯ มีจำกัด

นายเกร็ก โพลิง และนายไซมอนด์ ฮูเดส จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน มองว่า ใกล้จะมีการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร

“แต่การคว่ำบาตรไม่น่าจะส่งผลกระทบในทันทีและมากนักต่อบรรดานายพล” พวกเขากล่าว โดยให้เหตุผลว่ามีนายพลเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีความตั้งใจจะเดินทางไปหรือทำธุรกิจที่สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ยังแตกต่างจากปฏิกิริยาที่มีต่อการทำรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อปี 2557 เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดกิจกรรมทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมและการขายได้ เพราะสหรัฐฯ แทบจะไม่มีความความสัมพันธ์ทางทหารกับเมียนมา

นายบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อเมียนมา เมื่อปี 2554 หลังจากกองทัพเริ่มคลายมือ และในปี 2559 ยังได้ยกเลิกข้อจำกัดที่เหลืออีกหลายประการ กระทั่งปี 2562 ฝ่ายบริหารของนายทรัมป์ได้กำหนดเป้าหมายการคว่ำบาตรต่อผู้บัญชาการทหาร 4 นายของเมียนมา ซึ่งรวมถึงพลเอกมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐประหาร จากข้อกล่าวหาเรื่องการข่มเหงชาวมุสลิมโรฮีนจาและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ

พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซาน คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย 83% ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน แต่กองทัพให้เหตุผลในการยึดอำนาจว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง

การให้คำปรึกษาที่ “คร่ำเคร่ง”

นางเจน ซากี โฆษกหญิงของทำเนียบขาวกล่าวในการบรรยายสรุปข่าวประจำวันว่า สหรัฐฯ พูดคุยอย่างคร่ำเคร่งกับพันธมิตร แต่เธอปฏิเสธที่จะบอกว่ามีการพิจารณาจะดำเนินมาตรการใดบ้าง นอกเหนือจากมาตรการคว่ำบาตร

นางซากี กล่าวว่า คำพูดของนายไบเดนที่กล่าวว่าสหรัฐฯ จะจำว่าแต่ละประเทศตอบสนองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เป็นข้อความที่ส่งถึงทุกประเทศในภูมิภาค

นายโรเบิร์ต เมเนนเดซ ประธานคณะกรรมการธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพรรคเดโมแครต กล่าวว่า สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ควรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ต่อกองทัพเมียนมา และผู้นำกองทัพ หากพวกเขาไม่ปล่อยตัวผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และปลดตัวเองออกจากรัฐบาล

เขายังชี้ด้วยว่า กองทัพเมียนมามีความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจา ซึ่งเป็นการตัดสินโดยที่ยังไม่ได้รับการระบุจากสหรัฐฯ นอกจากนี้กองทัพเมียนมายังคงใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

นายมิทช์ แม็คคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนางอองซาน ได้กล่าวถึงการควบคุมตัวนางอองซานกับเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ว่า “น่ากลัว” พร้อมกับกล่าวว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องตีราคาที่ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารต้องจ่าย

“ฝ่ายบริหารของนายไบเดนจำเป็นต้องยืนหยัดอย่างเข้มแข็ง และพันธมิตรของเรา รวมถึงกลุ่มประชาธิปไตยทั่วโลก ควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ด้วยการประณามการโจมตีระบอบประชาธิปไตยด้วยเผด็จการนี้” เขากล่าว

เหตุการณ์ในเมียนมาถือเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับฝ่ายบริหารของนายไบเดน และความพยายามในการสร้างนโยบายเพื่อฟื้นฟูความเข้มแข็งในเอเชียแปซิฟิก เพื่อยืนหยัดต่อสู้กับจีน

ทีมนโยบายด้านเอเชียหลายคนของนายไบเดน ซึ่งรวมถึงระดับหัวหน้าอย่างนายเคิร์ต แคมป์เบล เคยทำงานในรัฐบาลของนายโอบามามาก่อน โดยเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำงานเพื่อยุติการปกครองโดยกองทัพในเมียนมา ซึ่งถือเป็นความสำเร็จทางนโยบายต่างประเทศที่สำคัญ ขณะที่ตัวนายไบเดนเองก็เคยดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัยของนายโอบามามาก่อน