เครือซิโนฟาร์มในจีน พัฒนายารักษาโควิดจากพลาสมา-วัคซีน mRNA

ซิโนฟาร์มผลิตยา+วัคซีน
REUTERS/Florence Lo

“ซีเอ็นบีจี” บริษัทในเครือซิโนฟาร์ม กำลังพัฒนายารักษาโควิด-19 จากพลาสมาของผู้ป่วย รวมถึงวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการกลายพันธุ์ 

วันที่ 5 กันยายน 2564 โกลบอลไทม์ส รายงานว่า ยารักษาโควิด-19 ชนิดแรกของโลก ที่มาจากอิมมูโนโกลบูลินของมนุษย์ ซึ่งพัฒนาจากพลาสมาของผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว กำลังจะเข้าสู่การทดลองทางคลินิก ตามข้อมูลจากรองประธาน บริษัท ไชน่า เนชั่นแนล ไบโอเทค กรุ๊ป (ซีเอ็นบีจี) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซิโนฟาร์ม

คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา (Convalescent Plasma) หรือพลาสมาจากเลือดที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกรวมไว้ในแผนการรักษาโควิด ได้แสดงประสิทธิภาพที่ดีมากสำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักและรุนแรง “ซู จิงจิง” หัวหน้าระดับอาวุโสด้านการทดลองทางคลินิกของซีเอ็นบีจีเผยในเอกสาร ที่เผยแพร่โดยบัญชี WeChat ของคณะกรรมการกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐภายใต้สภาแห่งรัฐ

บริษัทดังกล่าวเผยด้วยว่า วัคซีนป้องกันโควิดรุ่นที่ 2 ของบริษัท ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับสายพันธุ์ทั่วไป เช่น เดลต้า และเบต้า ก็แสดงผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติของจีน ระบุว่า มีการฉีดวัคซีนโควิดทั่วประเทศมากกว่า 2,100 ล้านโดส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนหลักของจีนยังเผยด้วยว่า บริษัทได้ยื่นแผนอย่างเป็นทางการ เพื่อการขออนุมัติการฉีดวัคซีนกระตุ้นแล้ว

ยาชนิดใหม่ ซึ่งพัฒนาจากพลาสมาของผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว และผู้ที่ได้รับวัคซีนโดยที่ไม่ได้ติดเชื้อ ประกอบด้วยแอนติบอดีที่ต่อต้าน SARS-COV-2 อย่างมีประสิทธิภาพสูง ยาชนิดนี้ได้ผ่านการศึกษาพรีคลินิกและการทดสอบในสัตว์แล้ว โดยได้แสดงให้เห็นว่าสามารถบรรเทาอาการและความอันตรายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ได้ และกำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ในไม่ช้านี้ ตามข้อมูลที่ซีเอ็นบีจีเผยกับโกลบอลไทม์ส

ซู เผยว่า ในกรณีที่ยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดใหม่ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก ซีเอ็นบีจี ซึ่งเรียนรู้ประสบการณ์จากการระบาดของโรคซาร์ส ได้พัฒนา คอนวาเลสเซนต์ พลาสมา เพื่อรักษาผู้ป่วยวิกฤตและมีอาการรุนแรง จนได้รับการยอมรับให้เป็นแผนการรักษาโควิดระดับชาติ

ซูกล่าวอีกว่า ยาชนิดนี้สามารถนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย และสามารถกระตุ้นการตอบสนองอย่างรวดเร็วในการรักษาฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

“แต่ประสิทธิภาพที่แท้จริงของยาชนิดพิเศษยังคงขึ้นอยู่กับผลการทดลองทางคลินิกเป็นหลัก มากกว่าการสรุปในระยะแรก” เจียง ชุนไหล จากสถาบันชีววิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยจี๋หลิน กล่าวกับโกลบอลไทม์สเมื่อวันอาทิตย์

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การป้องกันและการฉีดวัคซีน ยังคงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการหยุดการติดเชื้อ ขณะที่ยาบางชนิดจะช่วยบรรเทาได้เฉพาะในขอบเขตที่จำกัด

“เพราะเมื่อติดเชื้อแล้ว ไวรัสจะใช้เซลล์ของมนุษย์เพื่อทำสำเนาไวรัสตัวใหม่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อิมมูโนโกลบูลินของมนุษย์ดังกล่าว จะสามารถต่อต้านไวรัสเฉพาะที่มาจากภายนอกเท่านั้น ดังนั้นภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ที่ได้รับผ่านวัคซีนจึงยังเป็นสิ่งจำเป็น” เถา ลีน่า ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากเซี่ยงไฮ้กล่าวกับโกลบอลไทม์ส

ขณะที่ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันอีกคนในกรุงปักกิ่ง ที่ไม่ต้องการเผยชื่อ เตือนว่า ยาชนิดนี้อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น เช่น ไวรัสตับอักเสบบี และเอชไอวี รวมถึงโรคติดต่อทางเลือดอื่น ๆ

ก่อนหน้านี้ ซีเอ็นบีจี เผยว่า บริษัทได้ปฏิบัติตามกระบวนการคัดกรองที่เข้มงวดสำหรับพลาสมาที่ได้รับบริจาคมา

ในงานแสดงสินค้า China International Fair for Trade in Services (CIFTIS) 2021 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอังคาร มีการเปิดตัวยาและวัคซีนหลายชนิด

ในงานดังกล่าว ทางบริษัทยังได้นำเสนอยาอีกตัวหนึ่งคือ โมโนโคลนัลแอนติบอดี 2B11 ซึ่งช่วยลดการอักเสบของปอดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้อย่างมากตามการทดลองในสัตว์ โดยขั้นต่อไปสำหรับยาตัวนี้คือการทดลองทางคลินิก

ซีเอ็นบีจี ยังได้เปิดตัวต้นแบบของวัคซีนที่ได้รับการปรับปรุง 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนโปรตีนลูกผสมที่มีขอบเขตในการออกฤทธิ์กว้าง และวัคซีน mRNA ที่พัฒนาขึ้นเอง โดยเฉพาะที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการกลายพันธุ์

ซู กล่าวด้วยว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่ได้รับการปรับปรุงแล้วนั้น อยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนการทดลองพรีคลินิกและทางคลินิกได้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีจนถึงขณะนี้ พร้อมทั้งระบุว่า พวกเขากำลังเตรียมแพลตฟอร์มสำหรับการผลิตจำนวนมาก เพื่อผลิตวัคซีน mRNA ที่พัฒนาขึ้นเอง