‘สี จิ้นผิง’ กับปฏิบัติการ ‘วาระแห่งชาติ’ ใหม่ในจีน

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

 

มีความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ หลายประการมาจากทางการจีนในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้ ทำให้แม้แต่คนที่ติดตามสถานการณ์จีนแบบไม่จริงจังนัก ก็สามารถบอกได้ว่า รัฐบาลกำลังพยายามขับเคลื่อนบางสิ่งบางอย่างอยู่อย่างเข้มข้น

ที่เห็นได้ชัดเจนคือปรากฏการณ์ที่สื่อตะวันตกเรียกว่า “การกวาดล้างอินเทอร์เน็ตเซ็กเตอร์” ซึ่งส่งผลกระทบต่อยักษ์ใหญ่ในแวดวงออนไลน์ระดับโลก ตั้งแต่อาลีบาบา กรุ๊ป, ตีตี โกลบอล อิงก์, เทนเซ็นต์ หรือแม้กระทั่งไบต์แดนซ์ เจ้าของติ๊กต๊อก เป็นต้น

หลังสุดมีการออกกฎหมายใหม่ “กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงด้านข้อมูล” (data security law) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 1 กันยายนที่ผ่านมา ก็ทำเอาหลายฝ่ายหัวหมุนไปเหมือนกัน ถึงขนาดบริษัทจีนบางบริษัทต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินว่า กำลังทำผิดกฎหมายใหม่นี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ชวนให้สังเกตอยู่ด้วยว่า ความเคลื่อนไหวเป็นขบวนของทางการจีนหนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในปริมณฑลทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงบรรดาดารา เหล่าเซเลบทั้งหลายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นงานดาราที่เลี่ยงภาษี การวิพากษ์วิจารณ์อาการ “คลั่งซูเปอร์สตาร์” แบบไม่ลืมหูลืมตา, การจำกัดเวลาในการเล่นเกมออนไลน์ของเด็ก ๆ เยาวชน เป็นต้น

คำถามสำคัญก็คือ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ที่ว่ากันว่า เป็นคนที่มีอำนาจอิทธิพลสูงสุดในจีนนับตั้งแต่ “เติ้ง เสี่ยวผิง” กำลังคิดจะทำอะไรกันแน่ และทำมากทำน้อยแค่ไหนกัน ?

นักวิชาการและผู้สันทัดกรณีของจีนบางคน เชื่อว่า สี จิ้นผิง กำลังพยายาม “ปรับโครงสร้างของสังคมจีน” ทั้งสังคมใหม่ หันไปจัดการกับบรรดา “อภิมหาเศรษฐี” ที่ระบบเศรษฐกิจของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสร้างขึ้นไว้ แล้วนำเอาความมั่งคั่งทั้งหลายมาจัดการ “กระจายเสียใหม่” ให้สม่ำเสมอกันทั้งสังคม

นั่นคือสิ่งที่ สี จิ้นผิง เรียกว่า “ความรุ่งเรืองร่วม” ในสังคมจีน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมานานในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของเหมา เจ๋อตุง แต่น่าคิดตรงที่ว่า ทำไมถึงได้กลายมาเป็น “วาระแห่งชาติ” กันในตอนนี้

“ออสติน สเตรนจ์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์เอ็นบีซีเอาไว้น่าสนใจว่า เป็นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการใช้โอกาสนี้แสดงตัวว่า มองการณ์ไกล และใส่ใจพลเมืองของตนเองทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนกลุ่มล่างสุดของสังคม ที่ได้รับส่วนแบ่งจากความมั่งคั่งที่ผ่านมาเพียงน้อยนิดเท่านั้น

นั่นแสดงให้เห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเข้าแทรกแซง ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อจัดการกับปัญหาอมตะที่เกิดขึ้นในทุกสังคมอย่าง “ความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งในจีนนับว่าเป็นปัญหา “รุนแรง” ไม่น้อยเลยทีเดียว

ข้อมูลของเวิลด์แบงก์แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 1978 เรื่อยมา จีนพัฒนาเศรษฐกิจจนสามารถยกระดับคนกว่า 800 ล้านคนให้พ้นจากความยากจนได้สำเร็จ

ประชากรของจีนกว่าครึ่งประเทศในปัจจุบันสามารถจัดได้ว่าเป็น “ชนชั้นกลาง” อันเป็นผลจากพัฒนาการที่ว่านั้น

พัฒนาการดังกล่าวทำให้จีนมีอภิมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินเกินพันล้านดอลลาร์มากถึง 1,085 คน มากกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป

แต่ในเวลาเดียวกัน “หลี่ เค่อเฉียง” นายกรัฐมนตรีจีน ก็บอกไว้เมื่อปีที่ผ่านมาว่า คนจีนอีกไม่น้อยกว่า 600 ล้านคน ยังคงยังชีพอยู่ด้วยรายได้เพียงเดือนละ 150 ดอลลาร์ หรือแค่เพียง 4,600 บาทเท่านั้น

“ไรอัน แฮสส์” นักวิชาการจากสถาบันบรูกกิงส์ องค์กรวิชาการอิสระในวอชิงตัน ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า สิ่งที่ สี จิ้นผิง กำลังทำนั้นเป็นความพยายามแสวงหา “ความชอบธรรม” ใหม่ในการนำประเทศและประชาชนจีนก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้า

พ้นจากยุค “เหมา เจ๋อตุง” มา “เติ้ง เสี่ยวผิง” อาศัยการปฏิรูปเศรษฐกิจ รับเอาระบบตลาดเข้ามา สร้างความเติบโตสูงลิ่วให้กับเศรษฐกิจและสังคมจีนได้อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นคือความชอบธรรมของพรรคในยุคนั้น ซึ่งไม่สามารถเป็นอย่างเดิมได้อีกต่อไปแล้ว เศรษฐกิจจีนยังจะขยายตัวต่อไป แต่ในระดับที่ชะลอช้าลง จนไม่สามารถใช้อ้างเป็นความชอบธรรมได้อีก

การหันมาโฟกัสที่ “คุณภาพของชีวิต” และความเสมอภาคในสังคม คือความชอบธรรมใหม่สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอนาคต

ปัญหาชวนคิดก็คือ ทางการจีนกำลังใช้การบังคับเข้มงวด การแทรกแซงซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อจัดการแก้ปัญหานี้จะได้ผลหรือ ? การแทรกแซง ชี้นำ กำกับ ไปกันได้กับระบบเศรษฐกิจการตลาดหรือไม่ ?

ที่สำคัญที่สุดก็คือ สี จิ้นผิง แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่เป็นรากเหง้า เป็นชนวนเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำ ที่พยายามรณรงค์มานานหลายปีสำเร็จแล้วหรือ ?

คำตอบของคำถามเหล่านี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า “ความรุ่งเรืองร่วม” ของสี จิ้นผิง จะเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูเหมือนที่ผ่าน ๆ มาหรือไม่