อินโดนีเซีย ดึง “แอลจี-ฮุนได” ตั้งโรงงานฮับแบตเตอรี่ “อีวี”

รถยนต์ไฟฟ้าหรือ “อีวี” (EV) เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่โดดเด่น จากกระแสการลดมลพิษที่ทำลายสภาพอากาศโลก ทำให้อีวีมีแนวโน้มจะมาแทนที่รถยนต์ทั่วไป และกลายเป็นที่แพร่หลายทั่วโลกอีกไม่นานนี้ ส่งผลให้ “อินโดนีเซีย” เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เตรียมพร้อมและเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่อีวีระดับโลก

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “แอลจี เอเนอร์จี โซลูชั่น” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้ประกาศร่วมทุนกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง “ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป” เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเริ่มการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวีทางตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

“คิม จง-ฮย็อน” ซีอีโอของแอลจี เอเนอร์จีฯ ระบุว่า “เราจะพัฒนาโรงงานแห่งนี้ที่อินโดนีเซีย ให้เป็นฐานการผลิตหลักเพื่อการเข้าถึงตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ไม่เพียงแต่ในอาเซียน แต่ในระดับโลก”

โรงงานดังกล่าวลงทุนด้วยเม็ดเงินสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าจะผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับอีวีด้วยเทคโนโลยี “เอ็นซีเอ็มเอ” (NCMA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยแอลจี ด้วยการใช้นิกเกิลเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ถึง 90% ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่ดึงดูด ในฐานะประเทศผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดในโลก

โคเรีย อีโคโนมิก เดลี รายงานว่า โรงงานแห่งนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตได้ในต้นปี 2024 โดยมีกำลังการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ถึง 10 จิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) เพียงพอสำหรับรถอีวีกว่า 150,000 คัน/ปี ซึ่งหากมีความต้องการในตลาดสูงขึ้น ก็สามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงสุด 30 จิกะวัตต์-ชั่วโมง (GWh) ต่อปี

โดยแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จะส่งมอบให้กับฮุนได มอเตอร์และ “เกีย คอร์ปอเรชั่น” บริษัทในเครือฮุนได โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตรถอีวีของฮุนได ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างเช่นกัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตรถอีวีเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2022

สำหรับการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนมูลค่า 9,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียลงนามร่วมกับแอลจี เอเนอร์จีฯ เมื่อเดือน ธ.ค. 2020 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียแบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างโรงถลุงนิกเกิล โรงงานผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ และโรงงานรีไซเคิล

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามอย่างหนักในการดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ “บาห์ลิล ลาฮาดาเลีย” รัฐมนตรีด้านการลงทุนของอินโดนีเซีย ระบุว่า “บริษัทต่างชาติเพียงแค่นำ
เงินทุนและเทคโนโลยีเข้ามาพร้อมกับทำการตลาด ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียช่วยกำกับดูแลในเรื่องของใบอนุญาต และสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ ตามนโยบายของประธานาธิบดี”

ขณะที่ “โจโก วิโดโด” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระบุว่า การก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่นี้เป็นการยืนยันความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาล ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของอินโดนีเซียให้หลุดพ้นกับดักของการเป็นเพียงผู้ผลิตวัตถุดิบ

“ยุคทองของสินค้าโภคภัณฑ์ได้สิ้นสุดลงแล้ว เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากการผลิตวัตถุดิบ ไปสู่อุตสาหกรรมขั้นปลาย ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับประเทศ” ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าว

ปัจจุบันตลาดรถยนต์ของอินโดนีเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ในอินโดนีเซียอยู่ที่ราว 1 ล้านคันต่อปี ทั้งยังตั้งเป้าบุกตลาดอีวีของอาเซียนที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด