อนาคต “สหภาพยุโรป” ยุคหลัง “อังเกลา แมร์เคิล”

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อพรรคสายอนุรักษนิยมอย่างสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (ซีดียู) ของ นางอังเกลา แมร์เคิล และพรรคซีเอสยู ซึ่งเป็นพันธมิตร พ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดให้กับพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ซึ่งเป็นพรรคกลางซ้าย นำโดย นายโอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีคลังวัย 63 ปี

เมื่อผลเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ หลีกไม่พ้นที่จะต้องตั้งรัฐบาลผสม และอาจเผชิญปัญหายุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาลแบบเดียวกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือน แม้ว่านายโชลซ์จะประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จก่อนคริสต์มาสก็ตาม

การเลือกตั้งครั้งนี้ นางอังเกลา แมร์เคิล ไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 5 หลังจากดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันมา 4 สมัย 16 ปี เป็นการปิดฉากผู้นำหญิงแกร่งแห่งเยอรมนี และสตรีที่ได้รับการจดจำว่า ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุโรป

การปิดฉากของแมร์เคิลและซีดียู นอกจากจะส่งผลต่อการเมืองของเยอรมนีแล้ว ยังอาจจะส่งผลต่อทิศทางของสหภาพยุโรป (อียู) อีกด้วย เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอียู เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอียู มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของอียู และตลอดห้วงของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี 16 ปี แมร์เคิลมีบทบาทหลักในการนำสหภาพยุโรปต่อสู้กับวิกฤตใหญ่หลายครั้ง ทั้งวิกฤตการเงินโลก วิกฤตหนี้สาธารณะ วิกฤตผู้อพยพ และล่าสุดวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

สำหรับนายโชลซ์นอกจากเป็นรัฐมนตรีคลังแล้ว ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของนางแมร์เคิลด้วย ดังนั้น การจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีจึงมีความพร้อมและเหมาะสมในแง่ของการเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม คำถามที่มากกว่านั้น
ก็คือ ความเป็นผู้นำของนายโชลซ์มีความหมายอย่างไรต่ออียู

“โรบิน บิว” กรรมการผู้จัดการของอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ระบุว่า เชื่อว่ารัฐบาลผสมของนายโชลซ์ มีแนวโน้มจะต้องการให้สมาชิกอียูรวมตัวกันลึกขึ้นมากกว่าอดีต แต่การเป็นรัฐบาลผสมจะทำให้ภาวะผู้นำของนายโชลซ์มีข้อจำกัด ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด เนื่องจากมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายจากพรรคร่วม ดังนั้น จึงไม่คิดว่าจะได้เห็นภาวะผู้นำที่แข็งแกร่งจากนายโชลซ์

อียูมีปัญหามากมายที่นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนต่อไปต้องรับมือ โดยหนึ่งในโครงการใหญ่ของอียูก็คือผลักดันให้เกิดสหภาพธนาคารในกลุ่มสมาชิกอียูที่ใช้เงินยูโร (ยูโรโซน) ซึ่งหมายถึงชาติสมาชิกต้องถ่ายโอนอำนาจของธนาคารระดับชาติไปให้สถาบันภายใต้อียู โครงการนี้เสนอขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตหนี้ในอียู แต่เยอรมนีสงวนท่าทีเป็นพิเศษต่อแนวคิดนี้ ขณะที่ชาวเยอรมันจำนวนมากคัดค้าน เพราะกลัวว่าพวกเขาจะถูกบังคับให้จ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนสมาชิกอียูที่มีวินัยการเงินน้อย

นอกจากนี้ ยูโรโซนยังครบกำหนดที่จะอัพเดตกฎระเบียบว่าด้วยหนี้และการคลังในปีหน้า เพราะที่ผ่านมา กฎระเบียบเหล่านี้ถูกฝ่าฝืนหลายครั้ง โดยมีหลายชาติก่อหนี้เกิน 60% ของจีดีพี และคาดว่าการออกนอกลู่นอกทางจะยังเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเยอรมนีที่ได้ชื่อว่าสนับสนุนให้อียูใช้นโยบายตึงตัวทางการคลังมาโดยตลอด จะเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงเพดานหนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นายโชลซ์ระบุว่า กฎระเบียบการคลังของอียูมีความยืดหยุ่นเพียงพออยู่แล้ว เพราะอนุญาตให้สมาชิกใช้จ่ายงบประมาณได้มากขึ้น หลังจากเกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่หลบเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่าจะขยายเพดานหนี้ของอียูอีกหรือไม่ในอนาคต

ทางด้านนักวิเคราะห์ของบริษัทที่ปรึกษายูเรเซียชี้ว่า พรรคเสรีประชาธิปไตย (เอฟดีพี) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกทาบทามให้เข้าร่วมรัฐบาล ค่อนข้างจะมีท่าทีคัดค้านการรวมตัวลึกขึ้นของอียู ดังนั้น คงยากที่จะเห็นเยอรมนีผ่อนคลายจุดยืนอย่างมากเกี่ยวกับกฎระเบียบว่าด้วยหนี้และการคลังของอียู