“มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” เปิดใจ หลังเฟซบุ๊กถูกโจมตีอย่างหนัก

REUTERS/Erin Scott/File Photo

“มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” เปิดใจ หลังเฟซบุ๊กล่ม และถูกโจมตีอย่างหนักจากหลากหลายฝ่ายว่า ให้ความสำคัญกับรายได้ และกำไร มากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม “เฟซบุ๊ก” เพื่อ “เปิดใจ” กับปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กล่ม และถูกโจมตีอย่างหนักจากหลากหลายฝ่ายว่า ให้ความสำคัญกับรายได้ และกำไร มากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้งาน โดยมีข้อความดังนี้

สวัสดีครับทุกคน สัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่ามีหลากหลายอย่างที่เกิดขึ้น และผมอยากที่จะแชร์ความคิดเห็นกับทุกคน

โดยอย่างแรก คือเหตุการณ์ที่แพลตฟอร์มในเครือของเฟซบุ๊กล่ม ซึ่งเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทางทีมงานก็มีความพยายามหาวิธีป้องกัน ที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

ทั้งนี้ หลังจากที่แพลตฟอร์มล่มนั้น ไม่ได้กลัวว่าคนจะไปใช้งานแพลตฟอร์มคู่แข่ง หรือกังวลถึงเงินที่จะเสียไป แต่เป็นกังวลถึงผู้คนที่ต้องเพิ่งบริการของแพลตฟอร์มสำหรับสื่อสารกับคนใกล้ชิด การบริหารธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนชุมชน

ขณะเดียวกัน จากเหตุการณ์ที่ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กโดนโจมตีเรื่องการเพิกเฉยต่อผลการวิจัย ซึ่งมองว่าทางแพลตฟอร์มสนับสนุนให้มีการพูดหรือสื่อความหมายที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) และปล่อยให้เนื้อหาเหล่านั้น อยู่บนแพลตฟอร์ม ให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมมากขึ้น เนื่องจากทำให้บริษัทเติบโต แทนที่ทางบริษัทจะเข้าควบคุม

ทั้งนี้ ซักเคอร์เบิร์กตอบโต้ว่า เฟซบุ๊กไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหานี้แต่อย่างใด และยังเป็นผู้นำในโครงการวิจัยเพื่อศึกษาปัญหานี้ด้วย

ขณะเดียวกัน อีกคำวิจารณ์ที่ระบุว่า เฟซบุ๊กไม่สนใจเข้าควบคุมดูแลเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคม รวมทั้งมีความไม่โปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ซักเคอร์เบิร์กก็ได้ระบุว่า เฟซบุ๊กได้จ้างพนักงานจำนวนมากเพื่อควบคุมดูแลเนื้อหา รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ ทางแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก ยังถูกกล่าวหาว่า ทำให้สังคมแตกแยกกัน อย่างไรก็ดี ซักเคอร์เบิร์กแย้งว่า ความแตกแยกที่พูดถึงนั้น เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นนั้น โซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้เกิดความแตกแยกขึ้น

ทั้งนี้ การกล่าวหาดังกล่าวทั้งหมด ก็เพื่อเปิดโปงว่าเฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับรายได้ และกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์ม ซึ่งซักเคอร์เบิร์กปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

และซักเคอร์เบิร์กก็ได้ยกตัวอย่าง การที่เฟซบุ๊กก็มีการปรับนิวส์ฟีด ให้ “มีความหมาย” กับผู้ใช้งานมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลกระทบทำให้ใช้เวลาบนเฟซบุ๊กน้อยลง ซักเคอร์เบิร์กเลยสรุปว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว จะถือว่าทางเฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับกำไรที่สุดได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ซักเคอร์เบิร์กให้ความสำคัญมาก ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักคือ ผลกระทบของเฟซบุ๊กที่มีต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งซักเคอร์เบิร์กเองก็ได้คิดว่า เขาต้องการให้เด็ก ๆ รวมถึงลูกของเขาเอง มีประสบการณ์อย่างไรบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย หลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเด็กพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก

โดยก่อนหน้านี้ ทางเฟซบุ๊กก็ได้เริ่มพัฒนา “แมสเสนเจอร์ คิดส์” (Messenger Kids) รวมไปถึงการพัฒนาระบบควบคุมผู้ใช้งานของผู้ปกครองบนอินสตาแกรม อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้ได้ถูกหยุดไว้ก่อน เพื่อใช้เวลาในการศึกษามากขึ้นว่า ฟีเจอร์ดังกล่าวจะดีสำหรับเด็กหรือไม่

ขณะเดียวกัน ผลงานวิจัยของทางเฟซบุ๊กเองพบว่า วัยรุ่นใช้อินสตาแกรม เมื่อกำลังอยู่ในช่วงที่ยากลำบากและเผชิญกับปัญหา ทั้งด้านความเหงา ความเครียด ความโศกเศร้า และการกิน ซึ่งวัยรุ่นหญิงจำนวนมาก มองว่าการใช้งานอินสตาแกรมทำให้ช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านั้นดีขึ้น

นอกจากนี้ ทางเฟซบุ๊กยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของเยาวชน ซึ่งเฟซบุ๊กที่มีโครงการวิจัยชั้นนำ ที่ได้ระบุปัญหา และค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ซักเคอร์เบิร์กมองว่า หลายฝ่ายพยายามโจมตีเฟซบุ๊กด้วยข้อมูลเท็จ และทุกฝ่ายต้องหยุดโจมตีทางเฟซบุ๊ก และร่วมกันศึกษาและแก้ไขปัญหาด้านนี้ เพราะหากเพิกเฉยกับเรื่องนี้ สังคมจะก้าวไปสู่จุดที่แย่กว่าเดิมอีก

โดยซักเกอร์เบิร์กระบุว่า มันน่า “หงุดหงิด” ที่โดนบิดเบือนข้อมูลจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป หากทางเฟซบุ๊กยังคงพยายามทำสิ่งที่ถูกต้องต่อ มันก็จะเป็นผลดีต่อทั้งผู้ใช้งาน รวมทั้งสังคมและธุรกิจ

และยังได้เรียกร้องให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ให้ทำการเจาะลึกลงไปในงานที่ทำ เพื่อเผยแพร่แผนการออกมาว่า ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการวิจัยอย่างละเอียดในด้านนี้อย่างไรบ้าง

โดยเมื่อมองย้อนกลับไปที่งานของทางเฟซบุ๊ก ที่ผ่านมาได้ทำให้ผู้คนทั่วโลก ติดต่อกับคนใกล้ชิดได้ขณะเดียวกัน ยังได้สร้างโอกาสในการเลี้ยงดูตัวเอง และสร้างชุมชนขึ้นมาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมคนหลักพันล้านคน ถึงหันมาใช้เฟซบุ๊ก

โดยซักเคอร์เบิร์กทิ้งท้ายว่า ได้ภูมิใจในทุกอย่างที่ทางบริษัททำ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก และผมขอขอบคุณทุกคน สำหรับงานที่ได้ทำอยู่ในทุก ๆ วันนี้