ทำไม “เฟซบุ๊ก” ถูกโจมตีอย่างหนัก ?

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท “เฟซบุ๊ก อิงก์” ถูกโจมตีอย่างหนักจากหลากหลายฝ่าย หลังเกิดปัญหาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ในสังกัด อย่างอินสตาแกรม, วอตส์แอป และบริการอื่น ๆ ที่ต้องล็อกอินด้วยเฟซบุ๊ก ไม่สามารถเข้าบริการได้นานกว่า 6 ชั่วโมง

ทั้งนี้เฟซบุ๊กได้เขียนชี้แจงในบล็อก ถึงสาเหตุที่ทำให้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กทั่วโลกล่มนานหลายชั่วโมงว่า เนื่องจากในการทดสอบและซ่อมบำรุงส่วนงาน global backbone capacity โดยมีการส่งคำสั่งเพื่อประเมินการทำงานของเครือข่ายเฟซบุ๊ก แต่มีคำสั่งที่เป็น “คำสั่งตาย” เล็ดลอดเข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งปกติจะมีระบบตรวจจับคำสั่งที่ผิดปกติ เพื่อป้องกันการผิดพลาด แต่ระบบดังกล่าวเกิดปัญหาในจังหวะนั้นพอดี ทำให้ไม่มีการแจ้งเตือนตรวจสอบคำสั่ง และทำให้แพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กล่มทั้งเครือข่าย

ขณะเดียวกัน “ฟรานเซส เฮาเกน” อดีตผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก ก็ออกมาเปิดโปงข้อมูลภายในองค์กรของเฟซบุ๊ก ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายให้สาธารณชนรับรู้

โดยประเด็นหลักที่เฮาเกนโจมตีเฟซบุ๊ก คือการที่บริษัทเพิกเฉยต่องานวิจัยซึ่งบ่งชี้ว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับรายได้และกำไร มากกว่าความปลอดภัยของผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มโดยเฉพาะประชากรกลุ่มเด็กและเยาวชน

วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เฮาเกนได้เปิดเผยเอกสารภายในของเฟซบุ๊กกับแหล่งข่าว รวมถึงได้มีการทำรายงานถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (SEC) ถึงวิธีการที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ของเฟซบุ๊กรับมือกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่น ข่าวปลอมทางการเมือง ซึ่งมุ่งทำลายระบอบประชาธิปไตย, การพูดหรือสื่อความหมายที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech), ข้อมูลด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่น, การค้ามนุษย์, การโปรโมตความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงข้อมูลเท็จของวัคซีน

รายงานข่าวระบุว่า ประเด็นการออกมาเปิดโปงข้อมูลดังกล่าวของเฮาเกน ก็เพื่อที่จะบ่งชี้ว่าเฟซบุ๊ก “ตั้งใจ” ไม่เข้าควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่จะสร้างเม็ดเงินให้กับแพลตฟอร์มมากกว่า

ทั้งนี้ เฮาเกนได้แถลงการณ์ต่อหน้าสภาคองเกรสของสหรัฐว่า ต้องการให้บริษัทเฟซบุ๊ก “เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส” เกี่ยวกับวิธีที่แต่ละแพลตฟอร์มของบริษัท ชักจูงและโน้มน้าว ให้ผู้ใช้งานเลื่อนดูคอนเทนต์ต่าง ๆ ซึ่งสร้างโอกาสสำหรับผู้ลงโฆษณา

“ผู้นำของบริษัทนี้รู้ดีถึงวิธีที่จะทำให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ทางบริษัทเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าผู้คน และเฟซบุ๊กจะถูกมองว่าไร้ความรับผิดชอบ ตราบใด
ที่ยังไม่มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส” เฮาเกนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ซักเคอร์เบิร์กออกมาปฏิเสธคำกล่าวหาทั้งหมด พร้อมกับชี้ว่า ทางบริษัทได้มีการทำข้อมูลและงานวิจัยทางด้านเนื้อหาอยู่ตลอดเวลา และได้มีการปรับเปลี่ยนฟีเจอร์หลายด้าน ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน แม้จะต้องแลกมาด้วยกำไรที่ลดลงก็ตาม

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า เหล่านักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญมองว่า แม้เฟซบุ๊กจะเป็นหนึ่งในยักษ์เทคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ก็ทำรายได้ถึง 2.91 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มที่แอ็กทีฟมากเกือบ 2.9 พันล้านคน แต่ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เฟซบุ๊กถูกโจมตีอย่างหนัก รวมถึงทำให้หลายฝ่ายมีความเชื่อมั่นในแพลตฟอร์มลดลง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท

ขณะที่การเปิดโปงที่เพิ่ง “เริ่มต้นขึ้น” นี้ อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเฟซบุ๊ก แต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง สุดท้ายบริษัทอาจยังดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม ถึงแม้จะมีการเปิดโปงข้อมูลต่าง ๆ ออกมาก็ตาม