กลยุทธ์ถล่มราคาน้ำมันของสหรัฐได้ผลจริงหรือ ?

ราคาน้ำมัน
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” แห่งสหรัฐอเมริกา สร้างความฮือฮาให้กับตลาดน้ำมันดิบโลก ด้วยการเดินเกมทางการทูต ชักชวนชาติพันธมิตรสำคัญในเอเชียอย่าง อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมไปถึงคู่แข่งอย่าง “จีน” ให้ร่วมมือกันปล่อยน้ำมันดิบในคลังปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ (เอสพีอาร์) ออกมาพร้อม ๆ กัน

เป้าหมายสำคัญก็เพื่อดึงให้ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งพุ่งขึ้นแรงตลอดปีนี้ ให้ลดระดับลงมา คลายปมราคาพลังงานที่กำลังกลายเป็นวิกฤตมากขึ้นทุกที

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทั้ง 5 ประเทศ คือ สหรัฐ, จีน, อินเดีย, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น คือประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก

นักวิเคราะห์ทั้งหลายมองตรงกันว่า หากการร่วมมือกันดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะส่งผลสะเทือนต่อระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างแน่นอน ราคาน้ำมันดิบจะลดต่ำลง อย่างน้อยก็ในระยะสั้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อรายได้ของประเทศในกลุ่มพันธมิตร “โอเปกพลัส” เช่นกัน

“เควิน บุค” นักวิเคราะห์ของเคลียร์วิว เอเนอร์ยี พาร์ตเนอร์ส กรุ๊ป บอกว่า การร่วมมือกันดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการตอบโต้การปฏิเสธคำขอของสหรัฐอเมริกาให้เพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบมากขึ้นเท่านั้น ยังจะเป็นการส่งสารคุกคามต่อโอเปกพลัส โดยตรงอีกด้วย

เพราะเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในเมื่อประเทศผู้ผลิตน้ำมันจับมือกันเพื่อคุมทิศทางของตลาดและราคาน้ำมันได้ ประเทศผู้บริโภคก็สามารถจับมือกันเพื่อผลประโยชน์ในทำนองเดียวกันได้เหมือนกัน

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การรวมตัวกันภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จริงหรือ ?

ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาอุปทานน้ำมัน สหรัฐอเมริกาจะใช้วิธีการเคลื่อนไหวผ่าน สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ที่มีสมาชิก 30 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ ครั้งล่าสุดที่มีการปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองออกมาพร้อม ๆ กัน ก็เกิดจากการประสานงานของไออีเอนี่เอง

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นการใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นสมาชิกของไออีเออยู่แล้ว และแสดงท่าทีออกมาชัดเจนว่า พร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา

จีน กับ อินเดีย เป็นเพียงสมาชิกสมทบของไออีเอ แต่มีแนวโน้มสูงว่าทั้งสองพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐเพื่อการนี้

เหตุผลนั้นไม่เพียงเพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะที่ผ่านมา จีน และอินเดีย ก็ค่อย ๆ ทยอยปล่อยน้ำมันดิบในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของตนเองออกมาอยู่แล้ว

เมื่อเดือน พ.ค. จีนขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองออกมาถึง 589,000 บาร์เรลต่อวัน, เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 980,000 บาร์เรลต่อวัน และ ก.ค. 223,700 บาร์เรลต่อวัน

นักวิเคราะห์ประเมินกันว่า คลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของจีนลดต่ำลงจากราว ๆ 1,260 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ใกล้เคียงกับระดับ 840 ล้านบาร์เรลแล้วในเวลานี้ ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ก็ลดลงมา 5.7% เหลือเพียง 10.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

“อินเดีย” ก็เพิ่งปล่อยน้ำมันดิบในคลังสำรองออกมาตั้งแต่เดือน ส.ค. โดยคาดกันว่าจะมีน้ำมันดิบสำรองเทขายให้กับโรงกลั่นในประเทศอีกไม่น้อยกว่า 4.3 ล้านบาร์เรล ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การจับมือกันปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองของ 4 หรือ 5 ประเทศพร้อม ๆ กันในครั้งนี้ น่าจะกดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดลดลงมาอย่างน้อย 5% แรงกดดันที่ว่านั้นน่าจะช่วยตรึงราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ อย่างน้อยก็จนถึงปีหน้า

แต่นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่า การร่วมมือกันตรึงราคาน้ำมันครั้งนี้อาจส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันที่ควรจะออกสู่ตลาดเร็วขึ้น (ตามระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น) ต้องชะงักงันหรือชะลอออกไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำให้ราคาน้ำมันดิบในปี 2022 สะวิงสูงขึ้นมากอีกครั้ง เนื่องจากดีมานด์ในตลาดยังคงต่ำกว่าซัพพลายอยู่อย่างชัดเจนนั่นเอง