องค์การอนามัยโลกเชื่อ “โอไมครอน” น่าจะระบาดเกือบทุกประเทศแล้ว

โอไมครอน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่ไวรัสกลายพันธุ์ “โอไมครอน” น่าจะกระจายไปเกือบทุกประเทศแล้ว หลังล่าสุดมีการยืนยันว่าพบผู้ป่วยจากโอไมครอนใน 77 ประเทศ/เขตแดนทั่วโลก

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะมีประเทศอีกเป็นจำนวนมากที่ยังตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน ขณะที่มันกำลังแพร่ระบาดไปในอัตราที่รวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

กีบรีเยซุสยังแสดงความวิตกกังวลเพราะเขาเห็นว่าโลกอาจจะประเมินไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอไมครอนต่ำเกินไป ขณะนี้โอไมครอนและแพร่กระจายไปด้วยความรวดเร็วแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในไวรัสกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะตัวใดก็ตาม

“ที่แน่ ๆ คือเราได้เรียนรู้แล้วในขณะนี้ว่าเราประเมินถึงอันตรายของโอไมครอนต่ำเกินไป แม้ว่าโอไมครอนจะทำให้มีอาการป่วยไม่มากนักจริง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็อาจทำให้ระบบสาธารณสุขที่ยังไม่เตรียมพร้อมรับมือไม่ไหว” กีบรีเยซุสกล่าว

เขายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางด้านวัคซีน ขณะที่ประเทศหลายประเทศได้เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโอไมครอน

ทั้งนี้วัคซีนเข็มกระตุ้นมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิต ก็ยังคงเป็นอันตรายถึงชีวิตกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งยังคงรอและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนเบื้องต้นอยู่

แม้การบริจาควัคซีนและการแบ่งปันวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์จะเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขยังคงหวั่นวิตกว่าจะเกิดการขาดแคลนวัคซีนขึ้นอีกเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงกลางปีนี้ หลังจากที่อินเดียได้ประกาศระงับการส่งออกวัคซีนเมื่อมีจำนวนผู้ป่วยในประเทศเพิ่มสูงขึ้น

และยังมีประเทศยากจนอีกเป็นจำนวนมากรวมถึงคนซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว (ที่มา:มติชนออนไลน์)

ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกายังวิกฤตต่อเนื่อง ล่าสุดข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่ายอดผู้ป่วยสะสมในประเทศทะลุ 50 ล้านคนภายหลังพบผู้ติดเชื้อใหม่ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาอีก 9.5 หมื่นคน ส่งผลให้สหรัฐยังรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด และคิดเป็นร้อยละ 18 ของโลก เช่นเดียวกับยอดผู้เสียชีวิตที่นำเป็นอันดับ 1 หลังพุ่งเกิกว่าน 8 แสนรายหรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของโลก

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด

  • 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 51,018,282 ราย
  • 2. อินเดีย จำนวน 34,703,508 ราย
  • 3. บราซิล จำนวน 22,191,949 ราย
  • 4. สหราชอาณาจักร จำนวน 10,873,468 ราย
  • 5. รัสเซีย จำนวน 10,046,454 ราย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 2,174,906 ราย