ภูเขาไฟใต้น้ำตองกาปะทุ ส่งคลื่นกระแทกและสึนามิไปค่อนโลก

ภูเขาไฟใต้น้ำตองกาปะทุ ส่งคลื่นกระแทกและสึนามิไปค่อนโลก
FILE PHOTO: REUTERS

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตรวจวัดคลื่นกระแทกจากภูเขาไฟใต้น้ำในตองกา ระเบิดขึ้นกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

วันที่ 17 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแปซิฟิก Hunga-Tonga-Hunga-Ha’apai หรือภูเขาไฟตองกา เกิดการปะทุขึ้น ส่งคลื่นกระแทกและสึนามิไปค่อนโลก สามารถตรวจวัดได้จากสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT เฝ้าระวังสึนามิ คาดอาจมีการระเบิดตามมาอีก

บริเวณรอยแยกของแผ่นผืนทวีปนั้นจะเป็นบริเวณที่แมกมาร้อนใต้เปลือกโลกมักจะสามารถแทรกตัวขึ้นมาได้ ทำให้เกิดเป็นปรากฏการณ์ เช่น น้ำพุร้อน หากแมกมาสามารถแทรกขึ้นมาบนผิวโลกได้จะเรียกว่า “ลาวา” บางครั้งแมกมาและแก๊สใต้เปลือกโลกอาจจะถูกแรงดันมหาศาลผลักดันให้ขึ้นมายังด้านบนพร้อมๆ กัน เกิดการปะทุอย่างรุนแรง ส่งเขม่า ฝุ่นควัน และคลื่นกระแทกไปทั่ว และหากการปะทุนี้เกิดขึ้นใต้น้ำ อาจส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาในภายหลัง

การปะทุของภูเขาไฟนั้นไม่เพียงแต่จะปล่อยลาวาออกมา แต่ยังอาจจะปล่อยแก๊สและไอน้ำจำนวนมากที่ถูกกักเก็บเอาไว้ภายใต้เปลือกโลกขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เมื่อแก๊สปริมาณมากนี้ถูกปลดปล่อยออกมาพร้อม ๆ กัน อาจจะส่งออกมาเป็นคลื่นกระแทก แผ่ออกไปเป็นบริเวณกว้างทั่วโลก

หลังจากที่ภูเขาไฟตองกาที่อยู่ห่างประเทศไทยไปกว่าหมื่นกิโลเมตร เกิดการปะทุขึ้น ภายในเวลาต่อมาไม่นาน คลื่นมวลอากาศนี้จึงเดินทางมาถึงประเทศไทย ซึ่งสามารถตรวจวัดได้โดยสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วคลื่นกระแทกนั้นเดินทางด้วยความเร็วเสียง (ประมาณ 340 เมตรต่อวินาที) แต่ละพื้นที่บนโลกจึงพบคลื่นกระแทกนี้ในเวลาที่แตกต่างกัน

จากเครื่องตรวจวัดความกดอากาศที่สถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT นั้น เราจะพบว่าสถานีแรกที่พบคลื่นกระแทกนี้คือ หอดูดาวทางไกลอัตโนมัติ Springbrook ที่ประเทศออสเตรเลีย ในเวลา 18:42 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 15:42 น. ตามเวลาประเทศไทย)

ตามมาด้วยหอดูดาวภูมิภาค สงขลา อีกประมาณ 4 ชั่วโมงต่อมา ณ เวลา 19:50 น. หอดูดาวภูมิภาคนครราชสีมา 19:59 น. หอดูดาวภูมิภาค ฉะเชิงเทรา 20:01 น. อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร 20:25 น. หอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ 20:28 น. และหอดูดาวทางไกลอัตโนมัติ Gao Mei Gu ที่ประเทศจีน 21:42 น. ตามเวลาท้องถิ่น (20:42น. ตามเวลาประเทศไทย)

หากพิจารณาแล้ว เราจะพบว่าเวลาที่แตกต่างกันนี้สอดคล้องกันโดยตรงกับระยะห่างจากจุดศูนย์กลางการระเบิดที่ตองกา ซึ่งต่อให้เราไม่ได้ทราบอยู่แล้วว่ามีภูเขาไฟระเบิดเกิดขึ้นที่บริเวณใด เราก็จะสามารถใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าเหล่านี้ในการหาแหล่งกำเนิดคลื่นกระแทกจากการเทียบระยะเวลาที่ตรวจวัดได้จากแต่ละสถานที่ นี่เป็นอีกหนึ่งผลพลอยได้ที่ได้รับ ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าที่มีความละเอียดแม่นยำ ที่ NARIT กำลังพัฒนาเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้ง

เนื่องจากในการใช้งานหอดูดาวในทางดาราศาสตร์นั้น การได้การรายงานสภาพอากาศที่มีความแม่นยำนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการวางแผนสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยม และอาจจะส่งผลพลอยได้ในทางด้านอื่น เช่นกรณีนี้ หรืออาจจะสามารถช่วยตรวจวัดคลื่นกระแทกอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเหนือน่านฟ้าประเทศไทย เช่น อุกกาบาตขนาดใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้า

ภูเขาไฟใต้น้ำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเป็นกลไกหนึ่งของการกำเนิดเกาะใหม่กลางมหาสมุทร แท้จริงแล้วเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกส่วนมากนั้นมีต้นกำเนิดมาจากการปะทุของภูเขาไฟใต้น้ำ ที่ค่อย ๆ ส่งลาวาขึ้นมายังผิวน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่เกาะไปในที่สุด เช่น หมู่เกาะฮาวายที่โด่งดัง ซึ่งลาวาที่ออกมาจากภูเขาไฟนี้ ก็ค่อย ๆ ทับถมกัน และเราอาจกำลังเป็นสักขีพยานของการกำเนิดหมู่เกาะแห่งใหม่ล่าสุดกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ “ดัง” จนได้ยินมาถึงที่ประเทศไทยนี้ ก็เป็นไปได้

ข้อมูลและเรียบเรียง : ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ