ล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ภาพสะท้อน “โควิดซีโร่” ไม่ได้ผล ?

โควิด เซี่ยงไฮ้
REUTERS/Aly Song/File Photo

เปิดเหตุผล ทำไมล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้สะท้อนได้ว่า โควิดซีโร่ อาจไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว แม้ผู้นำจีนยังมั่นใจเชื่อใน “โควิดต้องเป็นศูนย์”

วันที่ 15 เมษายน 2565 การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกที่ยังคงดำเนินอยู่แตกต่างกันไป บางประเทศตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่อาการไม่รุนแรงจึงไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขมากนัก ขณะที่บางประเทศแนวโน้มติดเชื้อลดลง บางประเทศตัวเลขติดเชื้อทรงตัว แต่ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์รูปแบบใด แทบทุกประเทศมีแต่จะผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 กันทั้งสิ้น ทั้งไม่มีแนวโน้มว่าจะมีประเทศไหนกลับไปใช้การ “ล็อกดาวน์ปิดเมือง” คุมเข้มกันอีกครั้ง

ต่างกับ “จีน” ซึ่งยึดถือแนวทางโควิดต้องเป็นศูนย์ (Covid Zero) มานับตั้งแต่พบระบาดใหม่ ๆ ซึ่งดูเหมือนว่า ในช่วงแรกของการระบาดแนวทางดังกล่าวจะได้รับเสียงยกย่องชื่นชมจากนานาชาติ ที่จีนสามารถคุมเข้มกดตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่าหลายชาติทั่วโลก ท่ามกลางประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน

REUTERS/Aly Song

ตลอด 3 ปีที่โลกเผชิญโควิด หลายชาติต้องกลับไป “ล็อกดาวน์-คลายล็อกดาวน์” หลายต่อหลายรอบ จากปัจจัยไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ ตรงข้ามกับจีนที่แม้ทั่วโลกจะล็อกดาวน์จากไวรัสกลายพันธุ์ จีนซึ่งคุมการระบาดภายในได้อย่างดี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศเคลื่อนไหวอีกครั้ง ตรงกันข้ามกับหลายชาติที่ทุลักทุเลกับโควิดกลายพันธุ์

ถึงตอนนี้ กับการระบาดระลอกล่าสุดที่จีนถึงขั้นต้องล็อกดาวน์เมืองใหญ่อย่าง มหานครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากรกว่า 26 ล้าน หลังการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ทั้งมีแนวโน้มจะขยายการล็อกดาวน์ไปยังเมืองอื่น ๆ ส่งผลให้ทั้งชาวจีนและบุคลากรการแพทย์จำนวนไม่น้อยที่ “เหนื่อยล้า” กับการคุมเข้ม ล็อกดาวน์ และกักตัวที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้รอบนี้จึงกลายเป็นคำถามได้ว่า จีนถึงจุดที่ต้องทบทวนนโยบายโควิดซีโร่ได้แล้วหรือไม่ ? และการใช้วิธีนี้ยังคงได้ผลอยู่หรือไม่ ?

ข้อมูล ณ 14 เมษายน ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการในรายวันอยู่ที่ 25,146 ราย เพิ่มขึ้นจาก 25,141 รายจากวันก่อนหน้า ส่วนติดเชื้อแบบแสดงอาการอยู่ที่ 2,573 ราย จาก 1,189 รายในวันก่อนหน้า โควิดในเซี่ยงไฮ้จึงนับว่าเป็นการระบาดเลวร้ายที่สุดของจีนนับตั้งแต่พบโควิดครั้งแรกในอู่ฮั่น เพิ่มขึ้นจาก 25,141 ราย

สีจิ้นผิง ย้ำโควิดซีโร่ เชื่อวิธีนี้จีนจะชนะ

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางเยือนมณฑลไห่หนาน ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในนครเซี่ยงไฮ้ว่า “จีนต้องยืนหยัดในชีวิตผู้คนเหนือสิ่งอื่นใด เราต้องยึดมั่นในแนวทางอันเที่ยงตรงของวิทยาศาสตร์ มาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่ทรงพลัง การระบาดทั่วโลกยังคงรุนแรง จีนไม่สามารถผ่อนคลายการคุมโรคได้ ความอดทนจะทำให้จีนชนะ”

สีจิ้นผิง
REUTERS/Florence Lo

นี้คงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ‘จีนต้องทบทวนนโยบายโควิดซีโร่ได้แล้วหรือไม่’ผู้นำจีนชัดเจนว่า จีนยังคงยึดมั่นในแนวทางโควิดซีโร่ต่อไป แม้นโยบายนี้จะกระทบต่อประชาชนหลายล้านที่ต้องถูกล็อกดาวน์ ทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเป็นวงกว้าง ในแง่การใช้ชีวิตแม้รัฐบาลท้องถิ่นพยายามจัดหาอาหารและสิ่งของอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในหลายชุมชน ทว่าก็ยังไม่ทั่วถึง มีอีกหลายย่านเขตอาศัยที่ผู้คนต้องรอคอยของแจกจนไม่เหลือของกินของใช้ ชาวเมืองเริ่มขาดแคลนอาหารและยา กระทั่งปรากฏภาพจากคลิปวิดีโอที่ชาวจีนหลายร้อย บุกปล้นร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งต่อมาจีนได้ลบภาพพร้อมข้อความวิจารณ์รัฐบาลออกจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

ถึงกระนั้นบนเว่ยป๋อหรือวีแชท ก็ยังคงมีเสียงสะท้อนชาวจีนบ่นวิจาณ์ถึงมาตรการคุมเข้มของรัฐ ชาวเซี่ยงไฮ้ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อระบายความคับข้องใจเกี่ยวกับความยากลำบากในการได้รับอาหารเพียงพอ และนโยบายของจีนที่กำหนดให้ทุกคนที่ตรวจพบว่ามีผลในเชิงบวก ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ ต้องถูกเข้ากักกันภายในศูนย์กักตัวของรัฐที่มีสภาพที่ย่ำแย่ ท่าทีของสีจิ้นผิงที่ออกมาพูด หลังเริ่มมีกระแสคนเซี่ยงไฮ้ไม่พอใจนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

แม้ว่าภายหลังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคส่วนกลางที่ปักกิ่งได้เผยแพร่คำแนะนำการกักตัวอยู่บ้าน ทำให้คนเซี่ยงไฮ้เริ่มมีหวังว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะผ่อนคลาย แต่สาธารณสุขเซี่ยงไฮ้ยังไม่ส่งสัญญาณการเปลี่ยนยุทธศาสตร์รับมือการระบาด

“ขาลง” โควิดซีโร่ ?

เมื่อ 14 เมษายนที่ผ่านมา มีไวรัลจากผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย WeChat แห่แชร์บทความเรื่อง “ความอดทนของชาวเซี่ยงไฮ้ถึงขีดจำกัดแล้ว” เขียนโดยบล็อกเกอร์ดังนามปากกา Lady Moye เนื้อหาพูดถึงชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วนที่ต้องเจอมาตรการโควิดแบบเข้มงวดของจีน ซึ่งรวมถึงการบังคับจับแยกครอบครัว หากมีสมาชิกในบ้านติดเชื้อ หนึ่งในความเห็นของผู้อ่านบทความนี้บอกว่า”ใครก็ตามที่ลบบทความนี้ควรตายอย่างน่าสยดสยอง” ความเห็นนี้ถูกกดไลค์มากกว่าครึ่งล้านภายในไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่ต่อมาบทความดังกล่าวจะถูก WeChat ลบออก

สะท้อนว่าชาวจีนกำลังหมดความอดทนกับแนวทางที่เข้มงวดต่อโควิด ซึ่งใช้การล็อกดาวน์และตรวจหาเชื้อเพื่อปราบปรามการแพร่ระบาดอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ จีนยังได้ปิดพรมแดนจากโลกภายนอกมาหลายปีแล้ว ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องกักตัวโรงแรมเป็นเวลา 14 วัน ปัจจัยเชื้อโอมิครอนที่แพร่ได้ง่ายยิ่งทำให้การล็อกดาวน์มีแนวโน้มยาวนานและเข้มงวดมากขึ้น บางพื้นที่ของเซี่ยงไฮ้ตกอยู่ภายใต้ล็อกดาวน์มาตั้งแต่ 5 เมษายนแล้ว

Photo by LIU JIN / AFP) / China OUT

โควิดซีโร่ ทำไร้ภูมิคุ้มกันหมู่ ?

แนนซี่ เฉียน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การจัดการและวิทยาศาสตร์การตัดสินใจ ที่วิทยาลัยการจัดการเคลล็อกส์ แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจจีน China Econ Lab ให้มุมมองอย่างน่าสนใจว่า ความสำเร็จในโควิดซีโร่ นับเป็นความภูมิใจของทั้งชาติจีน รวมถึงรัฐบาลปักกิ่งในช่วงแรกของการระบาด สื่อจีนต่างประโคมข่าวความสำเร็จของแนวทางนี้ สวนทางกับหลายชาติที่พยายามคุมระบาดอย่างยากลำบาก

เมื่อเวลาผ่านไป มีหลายงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ออกมามากขึ้นที่ระบุว่า การระบาดในวงกว้าง แม้อาจแลกมาด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง ผู้เสียชีวิตสูง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต่อประชากรจำนวนมาก นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ควรควบคู่ไปพร้อม ๆ กับมาตรการป้องกันเชื้อและการระดมฉีดวัคซีน (ตัวอย่าง

เช่น งานวิจัยชื่อ Natural, Vaccine-Induced, and Hybrid Immunity to COVID-19) ผลการวิจัยนี้พบบว่า เมื่อเทียบกับบุคคลที่ไม่ได้รับวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อ กลุ่มคนมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและกลุ่มที่ได้รับวัคซีนมีการป้องกันที่คล้ายคลึงกันที่ 94.8% และ 92.8% ต่อการติดเชื้อ 94.1% และ 94.2% ต่อการรักษาในโรงพยาบาล และ 96.4% และ 94.4% ต่อการเจ็บป่วยรุนแรง ตามลำดับ การที่จีนพยายามกดตัวเลขติดเชื้อให้ลงเป็นศูนย์ โดยไร้การแพร่ระบาดในวงกว้าง อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรหมู่มากไร้ภูมิคุ้มกันหมู่ในลักษณะ “Hybrid Immunity”

อีกหนึ่งคำถามคือ วัคซีนจีนประสิทธิภาพไม่ดีพอหรือไม่ .. เหตุใดยอดป่วยของจีนจึงพุ่งทั้งๆที่มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง

หากย้อนไปช่วงที่ทั่วโลกต่างพยายามควานหาทางเข้าถึงวัคซีนแบรด์ดังทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา หรือแอสตร้าเซนเนก้า จีนนอกจากจะชูความสำเร็จโควิดเป็นศูนย์แล้ว ยังชูความก้าวหน้ากว่าชาติอื่นด้วยอัตราการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชนด้วยวัคซีนที่จีนคิดค้นพัฒนาเอง จีนแผ่นดินใหญ่ต่างกับฮ่องกง ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงยังสร้างทางเลือกให้ประชาชนเลือกว่าจะฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือชนิด mRNA แต่รัฐบาลแผ่นดินใหญ่ปฏิเสธที่จะขอซื้อหรือขอความช่วยเหลือจากวัคซีนต่างชาติด้วยเหตุผลด้าน “การเมืองระหว่างประเทศ”

ช่วงที่โควิดสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก มีหลายผลวิจัยที่ชี้ชัดว่า วัคซีนเชื้อตายไม่อาจมีประสิทธิภาพพอในการป้องกันเชื้อเดลต้า ขณะเดียวกันภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากวัคซีนโควิด-19 จะลดลงอย่างรวดเร็วแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2022 ชี้ให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์เริ่มลดลงหลังจากผ่านไป 6 เดือน กินเวลานานสุดกว่าวัคซีนเชื้อตาย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรฉีดบูสเตอร์ที่เป็น mRNA

ทั้งนี้ เมื่อ 14 เมษายนที่ผ่านมา ฮ่องกงซึ่งใช้วัคซีน mRNA ควบคู่กับวัคซีนเชื้อตาย ได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการคุมโควิดแล้ว ทั้งอนุญาตให้สถานประกอบการบางประเภทกลับมาเปิดบริการอีกครั้ง สวนทางกับแผ่นดินใหญ่ที่แม้จะฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ใช่สำหรับเข็มบูสเตอร์ ประชากรหนุ่มสาวไปจนถึงคนสูงวัยจำนวนไม่นอนที่ยังไม่ได้รับเข็มบูสเตอร์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจีนจะยังคงใช้วิธีการคุมเข้มแบบนี้ต่อไป แม้จะมีเสียงบ่นก่นวิจารณ์จากประชาชนว่า เหตุใดผู้ที่มีผลเป็นบวกแต่ไม่มีอาการ จะต้องไปกักตัวที่ศูนย์กักตัวของรัฐที่สภาพย่ำแย่ ขณะที่ประชาชนคนอื่นก็สุดแสนจะทนกับนโยบายที่ต้องแยกลูกจากพ่อแม่หากติดโควิด หากมองไปประเทศรอบข้างในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ ที่ยอดติดเชื้อก็สูงไม่แพ้กัน แต่ก็ปรับเปลี่ยน มาใช้นโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด” ทั้งวางแผนเพื่อเตรียมรับมือหากเกิดสายพันธุ์อื่น ๆ ตามมา

เชื่อว่าท้ายที่สุดจีนจะยังคงยึดแนวทางโควิดเป็นศูนย์ แต่จะเร่งการพัฒนาวัคซีนสูตรใหม่พร้อมเร่งอัตราการฉีดบูสเตอร์ในหมู่ประชากรโดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัย แนวทางอยู่ร่วมกับโควิด ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยังมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่จะดีกว่านี้หรือไม่ หากปักกิ่งปรับกลยุทธ์ให้ประชาชนปรับเข้ากับวิถีใหม่แทนที่จะ “ตะแบง” ล็อกดาวน์เข้มไร้การยื้ดหยุนไร้มิติ ทั้งสูญเสียต่อสุขภาพจิตของประชาชนและเศรษฐกิจในระยะยาว

Photo : REUTERS
REUTERS/Aly Song
Photo : REUTERS