คลังสหรัฐเตือนยุโรป แบนก๊าซรัสเซีย เสี่ยงเจ็บตัวทางเศรษฐกิจเสียเอง

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา
Photo by SAUL LOEB / AFP

ขุนคลังสหรัฐสวนกระแสวอชิงตัน เตือนชาติยุโรปแบนพลังงานรัสเซีย เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจตัวเอง

วันที่ 22 เมษายน 2565 เอเอฟพีรายงานว่า นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา กล่าวเมื่อ 21 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือกับนายเดนิส ชไมฮาล นายกรัฐมนตรียูเครน และเซอร์เก มาร์เชนโก รัฐมนตรีกระทรวงการคลังงยูเครน โดยขุนคลังสหรัฐกล่าวว่า แนวทางการแบนนำเข้าพลังงานจากรัสเซียของกลุ่มชาติยุโรป อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อชาติยุโรปเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

“แน่นอนว่ายุโรปจำเป็นต้องลดพึ่งพาพลังงานรัสเซีย แต่ก็ต้องต้องระมัดระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน หากจะแบนพลังงานเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง” นางเยลเลนกล่าว

ขุนคลังสหรัฐเสริมว่า “การแบนพลังงานรัสเซียอาจขัดกับความรู้สึกที่เราต้องการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อรัสเซีย ซึ่งแม้ว่าการส่งออกพลังงานรัสเซียจะลดลง แต่ราคาน้ำมันที่รัสเซียส่งออกไม่ได้ลดลงตาม ทั้งมีแนวโน้มแพงขึ้น หากเราสามารถหาวิธีคว่ำบาตรโดยที่ไม่ทำร้ายต่อเศรษฐกิจโลกจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นได้นั้นจะดีมาก”

นับตั้งแต่เหตุการณ์บุกยูเครน ทั้งสหรัฐอเมริกาและบรรดาชาติมหาอำนาจในยุโรปต่างออกมาตรการแบนนำเข้าพลังงานรัสเซีย เพื่อลงโทษทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่า เยอรมนีอาจได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักเนื่องจากเป็นชาติอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน การแสดงจุดยืนของนางเยลเลน มีขึ้นไม่นานหลังจากที่นาง คริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเยอรมนีให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า แสดงจุดยืนว่ารัฐบาลเยอรมนีกำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อยุติการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซ แต่เจ้าหน้าที่อียูยอมรับกับเอเอฟพีว่า มาตรการเพิ่มคว่ำบาตรอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่า ความขัดแย้งยูเครนจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน โดยลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอียูในปีนี้เหลือ 2.8% จากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 3.9% เมื่อเดือน ม.ค. ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงดังกล่าวมาจากการที่ยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มคว่ำบาตรรัสเซียในอนาคต โดยเฉพาะการยิ่งแบนก๊าซรัสเซีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของอียูชะลอตัวในระยะสั้นเสียเอง โดยเฉพาะเยอรมนี