สิงคโปร์โมเดล อยู่กับโควิด เปิดเศรษฐกิจ-เลิกล็อกดาวน์

ประเทศไทยกำลังมีความคืบหน้าสำคัญจากมติ ศบค. เมื่อ 22 เมษายน 2022 ที่ประกาศปรับมาตรการผ่านเข้าประเทศคือยกเลิกการตรวจคัดกรองเชื้อแบบ RT-PCR ทั้งหมด โดยจะเปลี่ยนให้ใช้การตรวจคัดกรองแบบ ATK ในระหว่างเข้าที่พัก มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป

ซึ่งไม่เพียงจะเป็นหนึ่งความหวังช่วยฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในชาติอาเซียนที่มีแนวทางเปิดกว้างต่อการรับนักเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ตามรอยสิงคโปร์ซึ่งมีแนวทางลดข้อจำกัดการข้ามผ่านแดน รวมถึงแทบเป็นชาติแรกของเอเชียที่ประกาศแนวทางการ “การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด” มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมา

ย้อนกลับไป กรกฎาคม ปี 2021 สิงคโปร์สร้างสิ่งกระแสสะเทือนโลกด้วยการเปิดนโยบาย “อยู่กับไวรัสโควิด เลิกล็อกดาวน์-เปิดเศรษฐกิจ” ตอนหนึ่งในคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ได้กลายเป็นไวรัลที่ชาวสิงคโปร์ให้ความสนใจ

ทั้งปรากฏในหน้ารายงานข่าวของสื่อหลายสำนักจากวาทะที่ว่า “เราไม่อาจขจัดไวรัสโควิดให้หมดไป…แต่สามารถบริหารจัดการกับมัน ให้เสมือนกับเป็นไข้หวัดธรรมดาได้” ขณะนั้นสิงคโปร์มีแผนทยอยเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทว่าต้องมาสะดุดเมื่อเผชิญกับปัจจัยใหม่จากไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

มุมมองคนไทยในสิงคโปร์

“ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “พี่แป๋ว” จากเพจ Pal Li-เพจพี่แป๋ว กินเที่ยว ฮ่องกง สิงคโปร์ ผู้ซึ่งใช้ชีวิตในสิงคโปร์มาครบ 1 ปี ครอบครัวของเธอย้ายตามสามีซึ่งเป็นชาวฮ่องกงมาทำงานยังสิงคโปร์ เผยว่า หากย้อนกลับไปช่วงที่สิงคโปร์เผชิญโควิดโอมิครอน

เหมือนรัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะรับมือต่อการระบาดจากปัจจัยไวรัสพันธุ์ใหม่นี้อย่างไร แต่สิ่งที่รัฐบาลยอมรับอย่างตรงไปตรงมาต่อประชาชนคือ รัฐบาลขอเวลาเรียนรู้ไวรัสชนิดใหม่นี้ก่อนที่จะดำเนินการมาตรการใด ๆ เพิ่มเติม

“สิงคโปร์ตอนที่เริ่มลองอยู่กับโควิด ตอนนั้นคนก็สับสนว่าทำไมรัฐบาลเลือกเศรษฐกิจ ทำไมไม่เลือกสุขภาพคนก่อน ทำไมต้องเร่งเปิดประเทศ ตอนที่ ลี เซียนลุง ประกาศ คนฮือฮามาก ในตอนนั้นรัฐบาลอาจยังมองไม่ออก ว่าจะคุมระบาดได้ดีแค่ไหน

แต่คิดว่าเศรษฐกิจมันไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นสิงคโปร์คุมอยู่ตัวเลขติดเชื้อต่ำมาก เมื่อเลือกที่จะผ่อน ซึ่งแน่นอนตัวเลขติดเชื้อต้องกลับมาสูงอีก ลี เซียนลุงที่เคยบอกว่า ข่าวร้ายคือโควิดจะไม่หมดไป เราจะต้องอยู่กับมัน แต่ข่าวดีคือรัฐเห็นความเป็นไปได้ที่อยู่กับมันได้ วัคซีนคือหัวใจสำคัญจริง ๆ ปัจจุบัน เข็มแรก 93% เข็มสอง 92% เข็มสามบูสเตอร์ไปแล้วกว่า 70%คือเป็นประเทศที่สตรองมากวัคซีนเต็มแขนที่สุดในโลก”

‘สิงคโปร์’ ชาติที่รัฐคาดหวังประชาชน

เมื่อถามถึงความเหมือนและความต่างในการดูแลประชาชนระหว่างสิงคโปร์และฮ่องกง พี่แป๋วในฐานะผู้ที่เคยอาศัยในฮ่องกงมา 14 ปี ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า สิงคโปร์เป็นชาติที่ค่อนข้าง “คาดหวัง” ต่อประชาชน ประชาชนต้องทำอะไรให้ประเทศชาติ ช่วยสร้างชาติ รัฐบาลจึงตอบแทนและดูแลประชาชนในรูปแบบต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่โควิดสิงคโปร์ระบาดหนัก ติดเชื้อวันละกว่า 5,000 ราย หลายภาคธุรกิจปิดหมด ยกเว้นโรงเรียนอนุบาล เพราะรัฐมองว่า โรงเรียนอนุบาลเป็นแหล่งช่วยเลี้ยงดู พ่อแม่จะได้ออกไปทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อเทียบกับฮ่องกง เธอยังไม่รู้สึกว่ารัฐบาลเรียกฮ่องกงเรียกร้องให้ประชาชนต้องทำอะไรแบบนี้ คนฮ่องกงจะอยู่บนแนวคิดที่ว่า “รัฐทำอะไรให้ประชาชน” ขณะที่ในแง่การเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งสองชาติก็มีการบริหารและการเยียวยาที่ดีแตกต่างกันไป “แต่เคยคุยกับคนสิงคโปร์บางคนเค้าก็อาจรู้สึกกดดันเกินไปนะ”

รักษา-เปิดพรมแดน “ชัดเจน”

พี่แป๋วแชร์ประสบการณ์เมื่อคราวติดโควิด “สองขีด” กันทั้งครอบครัวว่า ทั้งการเข้ารักษาตัวที่บ้านและพบแพทย์ ง่ายไม่ซับซ้อนและชัดเจน ช่วงที่ทั้งครอบครัวเธอสองขีด สิ่งที่ควรทำคือไปคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับรัฐ เพื่อปรึกษาแพทย์ รับยาตามอาการ

และชุดตรวจโควิดแบบ ATK ฟรี ซึ่งที่สิงคโปร์จะเรียก ATK ว่า “ART” คนละ 3 ชุด โดยสิงคโปร์จะมีแนวทางชัดเจนในการรักษาใน 3 แนวทาง คือ กักตัวรักษาที่บ้าน, อาการหนักเข้าโรงพยาบาล และการกักตัวในกลุ่มเสี่ยง มาตรการนี้อยู่บนพื้นฐานที่ “ความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน”

ขณะที่แนวทางการเปิดพรมแดน พี่แป๋วกล่าวอย่างน่าสนใจว่า “เขาไม่ได้เหมือนเมืองไทยที่ว่า เราจะเปิดประเทศ จะให้เป็นโรคประจำถิ่น เมื่อไหร่ วันนี้วันไหน แต่สิงคโปร์จะค่อยเริ่มทีละนิด รัฐบาลบอกเราจะค่อย ๆ เริ่มเปิดนะ

แล้วอาจจะเริ่มเห็นเคสติดเพิ่มขึ้นนะ เปิดแบบระมัดระวัง เปิดแบบมีหลักการ สิงคโปร์จะไม่เหมือนไทยกับฮ่องกง ไทยกับฮ่องกงพี่แป๋วมองว่าเหมือนกัน คือ สิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง เนี่ยอยู่ร่วมกับโควิดแล้ว แต่ไทยกับฮ่องกงอยู่ร่วมกับโควิดไปโดยปริยายเพราะติดระบาดกันหมดแล้ว สิงคโปร์เขาคุมได้ ก่อนหน้านั้นหลักสิบมาตลอดแต่เขาตัดสินใจปล่อยให้มันพุ่งเอง เพื่อเปิดเศรษฐกิจ”

1 เมษายน 2565 สิงคโปร์เปิดให้คนต่างชาติฉีดวัคซีนแล้ว เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องตรวจเชื้อเมื่อมาถึงสนามบินชางงี แต่ยังต้องตรวจโควิดก่อนเดินทาง ล่าสุดตั้งแต่ 26 เมษายนเป็นต้นไป สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยไม่ต้องกักตัวรวมทั้งไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดทั้งก่อนเข้าและเมื่อเดินทางถึงสนามบิน การยกเลิกมาตรการดังกล่าว ยังจะใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบด้วย ทั้งยังอนุญาตให้ประชาชนไม่ต้องสวมหน้ากากขณะใช้ชีวิตอยู่ที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 24 เมษายน 2565 ลี เซียนลุง นายกสิงคโปร์ กล่าวว่า แม้สิงคโปร์จะมีแนวทางผ่อนปรนและใช้ชีวิตร่วมกับโควิดมากขึ้น แต่สิงคโปร์ไม่เคยลืมบทเรียนอันล้ำค่าช่วงการระบาดของสิงคโปร์ “ที่เราได้จ่ายไปอย่างมากมายและจะต้องไม่สูญเปล่า…บทบาทของความไว้ใจระหว่างรัฐกับประชาชนคือปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด เหล่านี้จะเป็นบทเรียนให้ทั้งรัฐและประชาชน สำหรับการรับมือความท้าทายจากโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคต”

เปลี่ยนเศรษฐกิจหลังโควิด

หลังประกาศเลิกตรวจเชื้อ 1 เมษายนที่ผ่านมา “อัลวิน ตัน” รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม เผยว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ เกือบ 500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 1.23 หมื่นล้านบาท) ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

พร้อมระบุว่า สิงคโปร์ตระหนักดีว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะใช้เวลาราว 2-3 ปี จึงจะฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่เพียงแค่ฟื้นท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมุ่งปั้นให้แตกต่างจากจุดหมายท่องเที่ยวอื่น ๆ เน้นสร้างสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความยั่งยืน รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ

แม้สิงคโปร์จะเพิ่งเปิดรับการเดินทาง จากข้อมูลพบว่า สนามบินชางงีกลับมารองรับผู้โดยสารมากถึง 1.14 ล้านคนในเดือนมีนาคม 2022 ถือเป็นครั้งแรกที่ปริมาณผู้โดยสารทะลุ 1 ล้านคนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 สะท้อนความแข็งแกร่งในฐานะฮับการบินของประเทศอย่างชัดเจน

ด้วยศักยภาพของสิงคโปร์ เชื่อว่าการฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงไม่ไกลเกินเป้าภายใน 3 ปี ทว่าด้วยปัจจัยเหนือควบคุมจากสงครามยูเครนและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นั่นทำให้สิงคโปร์ต้องอาศัยใช้โอกาสจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงต่อภาคธุรกิจและแรงงานคนอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ภายใต้วิสัยทัศน์ เศรษฐกิจ 2030 ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากปัจจุบัน 805,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการส่งออกต่อ (reexports) เพื่อให้ทำให้สิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกแบบลึกซึ้งยิ่งขึ้น